‘หอค้า’ ฉายภาพ สัมพันธ์ ไทย-จีน ชง 2 ข้อเสนอหนุนลงทุน พร้อมดึงเทคโนโลยีจีน ต่อยอดธุรกิจ

‘หอค้า’ ฉายภาพ สัมพันธ์ ไทย-จีน คู่ค้าอันดับ 1 ชง 2 ข้อเสนอหนุนลงทุน พร้อมดึงเทคโนโลยีจีน ต่อยอดธุรกิจ

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยระหว่างเป็นวิทยากร เสวนาย่อยเรื่อง ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย ภายในงานการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ว่า การค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ติดต่อกัน 11 ปีซ้อน หรือตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มูลค่าการค้าไทย-จีน ในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกจีน 1.19 ล้านล้านบาท (2.42 แสนล้านหยวน) ในกลุ่มผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ขณะที่ ไทยนำเข้าจากจีนถึง 2.49 ล้านล้านบาท ในกลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรยนต์ แม้ไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จากการนำเข้า แต่ก็ถือเป็นสินค้าประเภททุน ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรยนต์ และเทคโนโลยี สำหรับการต่อยอดการค้าของประเทศไทย

นายสนั่น กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่ขอสิทธิประโยชน์หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของไทย กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นอันดับ 1 และมีมูลค่าสูงถึง 7.7 หมื่นล้านบาท และตั้งแต่ปี 2561-2565 ประเทศจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย รวมทั้งสิ้นเป็นอัน 2 จากการลงทุนของต่างชาติในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด และประเทศไทยพร้อมเป็นหนึ่งในพื้นที่ศักยภาพและสามารถรองรับการลงทุนตรงจากจีนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยขั้นสูงอีกด้วย

นายสนั่น กล่าวว่า สำหรับภาคการเกษตร เมื่อต้นปี 2565 ไทยได้รับผลกระทบและประสบปัญหาส่งออกผลไม้จากมาตรการซีโร่ โควิด ของประเทศจีน โดยหอการค้าไทยได้ร่วมกับประทรวงการต่างประเทศ เดินทางเข้าพบ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ที่อานฮุย เพื่อขอให้จีนได้ช่วยเปิดด่านและอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีน ซึ่งได้ตอบรับสั่งการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผลไม้ไทยทันทีทำให้ในปีที่ผ่านมา ทุเรียนไทยกว่า 96% ของการส่งออกทั้งหมด สามารถส่งถึงผู้บริโภคชาวจีนและเป็นที่นิยมอย่างมาก พร้อมทั้ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ผลไม้ต่างๆ ของไทยที่ส่งไปจีนมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาท

Advertisement

นายสนั่น กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความต้องการที่จะเรียนรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ของจีน เพื่อช่วยยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านคุณภาพ ผลผลิต และมีศักยภาพพร้อมเป็นพื้นที่สนับสนุนวัตถุดิบทางการเกษตรให้จีนในอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นายสนั่น กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้มีการเผยแพร่ผลการศึกษาและแนวทางการดึงดูดและการรองรับนักลงทุนจีน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1.ไทยพร้อมปรับปรุงกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับประเทศจีน โดยการจัดตั้งแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน หรือก่อตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ชัดเจนมากขึ้น 2.ขยายความร่วมมือด้านการลงทุนของจีน ในอีอีซีของไทย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนภายใต้กรอบความร่วมมืออาร์เซป และการเร่งผลักดันโครงการรถไฟไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิด และสอดคล้องกับข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนด้วย

นายสนั่น กล่าวอีกว่า 3.การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงซัพพลายเชนซึ่งกันและกัน 4.การยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน ทั้งการส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทย-จีน ดำเนินการฝึกอบรมร่วมกันให้มากขึ้น และ5.ไทยพร้อมยกระดับการบริการข้อมูลการลงทุน ทั้งการจัดตั้ง One Stop Service ด้านการลงทุนแบบครบวงจร

Advertisement

“ก่อนหน้านี้หอการค้าฯ ได้มีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ถึงแผนที่จะนำเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของไทย ทั้งบีโอไอ และอีอีซี เดินทางไปโรดโชว์ ที่ประเทศจีนอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำว่าประเทศไทยมีความพร้อมและศักยภาพ และให้ความสำคัญกับประเทศจีนในการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป” นายสนั่น กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image