แผนแก้แล้ง 3 ปีชงรัฐบาลเงียบกริบ! เอกชนกังวล ชี้ปมผู้บริหารท่อเสี่ยง – ขอสทนช.ช่วย

แผนแก้แล้ง3ปีชงรัฐบาลเงียบกริบ! เอกชนสะท้อน2ประเด็นร้อน-กังวล ปมผู้บริหารท่อเสี่ยง – ขอสทนช.ช่วย

นายธันยพัฒน์ มั่นณิชนันทน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า ภาครัฐยังเงียบ ไม่มีการตอบรับในการทำแผนรับมือภัยแล้งที่ชัดเจนแต่อย่างใด สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐเร่งดำเนินการคือ แผนรับมือภัยแล้งช่วง 3 ปีนี้(2566-68) จากสถานการณ์เอลนีโญ โดยเฉพาะความกังวลในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวตลอดจนประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก ไม่อยากให้เกิดภาพการแย่งน้้ำ

ข้อกังวลประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนมี 2 ประเด็นหลัก คือ ความพร้อมระบบสูบผันน้ำ พบว่า

1.ระบบสูบน้ำจากวังประดู่ เพื่อสูบน้ำจากจันทบุรีมาเติมที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ในช่วงฝนปี 2566-67 ยังไม่ได้รับการแก้ไข

Advertisement

2.ระบบสูบน้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์ที่ส่งน้ำในพื้นที่เสียหาย ทำให้ต้องใช้ระบบสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-คลองใหญ่ส่งให้เกษตรกรแทน กระทบแผนบริหารจัดการน้ำ

3.ระบบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ – หนองปลาไหล อยู่ระหว่างก่อสร้าง และ4. การขุดลอกต่างตอบแทนของอ่างเก็บน้ำในชลบุรี จึงใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระมากกว่าแผน มีแนวโน้มที่จะสูบน้ำมาเติมไม่ทันเนื่องจากเอลนีโญ ควรงดหรือชะลอขุดลอกต่างตอบแทนชั่วคราว

Advertisement

อีกประเด็นที่อยากให้เร่งแก้ปัญหา คือ การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเส้นท่อ ทำให้ระบบอ่างเก็บน้ำถูกแยกเดี่ยวช่วงเอลนีโญ จึงเสี่ยงสูง ทำให้

1.ขาดความยืดหยุ่นในการจัดการน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในระยอง ชลบุรี โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำดอกกราย คุณภาพน้ำไม่เหมาะสมช่วงน้ำน้อย ต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมาผสมให้คุณภาพดีขึ้น

2.ค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำของระบบสูบน้ำเดิมใช้เอ็มโอยูระหว่างกรมชลประธาน การประปาส่วนภูมิภาค และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ แต่การเปลี่นแปลงผู้บริหารเส้นท่อกรมธนารักษ์ทำให้ไม่มีเจ้าภาพจ่ายค่าไฟฟ้า แผนสูบน้ำจึงไม่เป็นไปตามแผน

3.กระบวนการศาลปกครองใช้เวลาตัดสิน ส่วนราชการไม่กล้าตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ อาจส่งผลกระทบถึงคำสั่งศาลในอนาคต เรื่องนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ควรเป็นหน่วยงานกลางแก้ปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image