คิดเห็นแชร์ : เช็กความพร้อมไทยในการเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน

คิดเห็นแชร์ : เช็กความพร้อมไทยในการเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านคอลัมน์ คิด เห็น แชร์ พบกันในช่วงที่เรากำลังจะก้าวสู่ครึ่งปีหลัง 2566 ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมไทยพบกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบ ทั้งจากภาคการเงินของสหรัฐ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ

ความท้าทายเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มที่เราเคยเป็นที่ 1 ของอาเซียน อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญ อาทิ ทำอย่างไรเราจึงจะรักษาฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ให้ติดอันดับต้นของภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ผู้ประกอบการทั้งห่วงโซ่ต้องปรับตัวรับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการปรับตัวไปสู่การเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ไทยพยายามจะเป็นจุดศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค

ในภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ปีที่ผ่านมาไทยผลิตรถยนต์ได้อันดับ 1 ในอาเซียน และเป็น 1 ใน 10 ประเทศหลักที่ผลิตรถยนต์ของโลก และรัฐบาลไทยได้เน้นให้ความสำคัญกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปี ไทยจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไม่น้อยกว่า 360,000 คัน ควบคู่กับการให้สิทธิประโยชน์โดยการลดภาษีหลายรายการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภค จะเห็นได้ว่า ภาครัฐหลายๆ ฝ่าย กำลังพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้า ในระยะยาวต่อไป

Advertisement

มีการคาดการณ์ว่า ในภาพรวม ปี 2566 ไทยจะผลิตรถยนต์ได้ 1.95 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 1.9 ล้านคัน ประกอบกับไทยมีซัพพลายเชนที่มีความเข้มแข็งมากที่สุดในอาเซียน สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีว่า ไทยยังสามารถดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ และจะมีส่วนในการพัฒนาไปสู่การผลิตรถยนต์อีวีได้ 30% ในปี 2030 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายรายมีแผนจะดึงซัพพลายเออร์จากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ล้วนมีความพร้อมในการลงทุนและมีความมั่นใจว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีของภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลจะประเมินสถานการณ์และนโยบายการสนับสนุนใช้รถอีวีของประเทศเพื่อนบ้าน ออกมาตรการสนับสนุนส่งเสริมการใช้รถอีวีอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีของภูมิภาคอาเซียน และขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานรถอีวี เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ภายในปี 2568 ซึ่งระยะเวลาอีกประมาณ 2 ปี ผมเชื่อว่าไทยมีศักยภาพพอที่จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา กนอ.มีโอกาสเดินทางไปโรดโชว์เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติขยายฐานการลงทุนในหลายประเทศ ได้พบปะนักลงทุนและหน่วยงานพันธมิตรหลากหลายหน่วยงาน ตลอดจนมีโอกาสต้อนรับนักลงทุนชาวต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย พบว่า อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายหลักส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเดิมที่มีฐานการผลิตในไทยเป็นส่วนใหญ่ และนักลงทุนยังให้ความสำคัญกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง 2.อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 3.อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 4.อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม และ 5.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์

Advertisement

กนอ.ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการในนิคม มีภารกิจในการสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น เราจึงพยายามกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลควบคู่ไปด้วย โดย กนอ.พยายามที่จะผลักดันให้เกิดนิคมใหม่ใน 2 แนวทาง ดังนี้ แนวทางแรกคือ การสร้างนิคม ที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในกลุ่ม S-Curve และ New S-Curve จึงเป็นแนวคิดในการสร้างนิคม สมาร์ท ปาร์ค เป็นต้น และแนวทางที่ 2 คือ การสร้างนิคม เพื่อตอบโจทย์ BCG (Bio Economy, Circular Economy และ Green Economy) เพื่อสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน กนอ.ยังพยายามผลักดันให้นิคม ที่เปิดดำเนินการแล้วมุ่งสู่การเป็นนิคม อัจฉริยะ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้วย ซึ่งปัจจัยในการเตรียมความพร้อมด้านพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการสร้างซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งในพื้นที่นิคม จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่สำคัญของประเทศอย่างแข็งแกร่งตามมาแน่นอนครับ

ดร.วีริศ อัมระปาล
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image