ตลาดการเงินจับตาการเมืองไทย ถ้า ‘พิธา’ ขาดเสียงหนุนหลุด ‘นายกฯ’ กดดันบาทอ่อนค่า

ตลาดการเงินจับตาการเมืองไทย ชี้ถ้า “พิธา” ขาดเสียงหนุนหลุด ‘นายกฯ’ กดดันบาทอ่อนค่า

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.91 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ และมองกรอบเงินบาทที่ระดับ 34.50-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่างชะลอลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ก็เป็นไปตามมุมมองที่คาดว่าเงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้บ้าง หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI สหรัฐฯ ชะลอตัวลง ซึ่งปัจจัยภายนอก อย่างทิศทางเงินดอลลาร์อาจไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปมากนัก

ADVERTISMENT

โดยเงินดอลลาร์ก็อาจแกว่งตัว sideway หรือย่อตัวลงได้บ้าง (ต้องระวัง หากตลาดปิดรับความเสี่ยง Risk-Off เงินดอลลาร์ก็อาจแข็งค่าขึ้นได้) ทำให้ปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทและความผันผวนของค่าเงิน คือ ปัจจัยการเมืองไทย ซึ่งต้องรอลุ้นผลการโหวตเลือกนายกฯ ในวันนี้

ประเมินว่าโมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจถูกชะลอได้และอาจเห็นโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเพิ่มมากขึ้น หากความวุ่นวายการเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ คุณพิธา แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลและพรรคพันธมิตรขาดเสียงสนับสนุนเกินกว่า 50 เสียง (ให้โอกาสกรณีนี้มากที่สุด หรือเป็น Base case)

ADVERTISMENT

ซึ่งจะสะท้อนความเสี่ยงว่า ทางฝั่งพรรคก้าวไกลและพรรคพันธมิตรอาจจะต้องปรับเปลี่ยนแคนดิเดต หรือ สุดท้ายก็อาจเกิดการปรับรูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยในกรณีนี้ เงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าลงทดสอบโซน 35 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง และมีโอกาสอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ไม่ยาก หากสถานการณ์การเมืองส่อเค้ามีการชุมนุมประท้วงผลการโหวตเลือกนายกฯ

ทั้งนี้ หากคุณพิธา ขาดเสียงสนับสนุนไม่มาก เช่น 20 เสียง ผู้เล่นในตลาดอาจไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์การเมืองมากนัก แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่อาจกดดันต่อเงินบาทได้บ้าง โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงเล็กน้อย กลับสู่โซน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ได้

และในกรณีสุดท้าย หากผลการโหวตเลือกนายกฯ ราบรื่น และคุณพิธาได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนใหม่ (โอกาสเกิดน้อยที่สุด แทบเป็นไปไม่ได้) ตลาดการเงินก็อาจเปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อทดสอบโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก

“ช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน” นายพูนกล่าว

นายพูน กล่าวว่า ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่าเฟดอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 100.5 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 100.5-101.6 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา)

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ซึ่งประเมินว่า คุณพิธา แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลและพรรคพันธมิตร อาจยังไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอ (376 เสียงขึ้นไป) ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า คุณพิธา ยังต้องการเสียงสนับสนุนอีกเท่าไหร่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงินได้ โดยเฉพาะกรณีที่ คุณพิธา ขาดเสียงสนับสนุน 50-60 เสียง ทำให้สถานการณ์การเมืองไทยอาจยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงในระยะสั้น และอาจนำมาสู่การชุมนุมประท้วงในระยะนี้ได้

ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดคาดว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ (แม้ว่าอาจจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง) อาจทำให้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ตัดสินใจ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ระดับ 3.50%

นอกจากนี้ ผู้เล่นตลาดอาจยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง เนื่องจากยอดการส่งออก (Exports) เดือนมิถุนายน อาจหดตัวต่อเนื่องถึง -10%y/y นอกจากนี้ยอดการนำเข้า (Imports) ก็จะหดตัวราว -4.8% สะท้อนความต้องการในประเทศที่ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่ตลาดคาดหวัง สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนี PMI ของจีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image