กดปุ่มโหวตนายกฯไทยรอบ 2 ฉากทัศน์ตลาดเงิน-ทุนไทย เดิมพัน ‘ฉลุย หรือ ถอยรูด’

กดปุ่มโหวตนายกฯไทยรอบ2 ฉากทัศน์ตลาดเงิน-ทุนไทย เดิมพัน‘ฉลุยหรือถอยรูด’

ภาพการเมืองไทยที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ส่งผลโดยตรงต่อกระดานหุ้นไทย เพราะความเชื่อมั่นเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการลงทุน ทำให้เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จจนผ่านมา 2 เดือนเต็ม แต่ยังไร้วี่แววความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล แม้มีพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งจากประชาชนอย่างพรรคก้าวไกล แต่เมื่อไม่ได้ใจ ส.ว. โอกาสที่จะผ่านด่านโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ดูช่างห่างไกลเหลือเกินดังภาพที่เห็นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตลาดเงินและตลาดทุนก็จึงดูเป๋ๆ เซๆ ทรงตัวไม่ไหว

การโหวตในรอบสอง ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ เป็นอีกวันของการชี้ทิศทางของตลาดทุนไทย ว่าจะสร้างปรากฏการณ์ใด “ทรง ทรุด หรือกระทิง”

⦁โหวตนายกฯบรรยากาศอึมครึม

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ให้มุมมองว่า ภาพตลาดเงินนับตั้งแต่การเลือกตั้งแล้วเสร็จจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเทียบดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าแรงเป็นรองเงินหยวน ที่จีนมีปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเยน ที่อ่อนตัวหลักในรอบ 15 ปี แต่ขณะนี้กลายเป็นเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเพราะความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าขณะนี้ดอลลาร์เริ่มกลับมาอ่อนค่าลงเทียบสกุลเงินสำคัญ เพราะภาวะเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลง และสกุลเงินอื่นๆ เริ่มแข็งค่าขึ้น แต่ค่าเงินบาทไทยเทียบกับสกุลเงินอื่นยังอ่อนค่าอยู่ เพราะความไม่มั่นใจในประเด็นการเมืองเป็นหลัก

ADVERTISMENT

ภาพตลาดหุ้น ต่างชาติขายสุทธิอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ขายออกแล้วกว่า 115,663.88 ล้านบาท โดยหากนับเฉพาะเดือนกรกฎาคม ตั้งแต่วันที่ 1-14 ต่างชาติเทขายหุ้นไทยแล้วกว่า 8,524.61 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่หายไป เนื่องจากมีความกังวลว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะมีความเสี่ยงในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลเข้ามากระทบหรือไม่

ในวันที่ 19-20 กรกฎาคมนี้ จะมีการโหวตเลือกนายกฯอีกครั้ง ประเมินว่าตลาดน่าจะมองลบสุดๆ ในช่วงแรก จากนั้นแม้มีภาพเชิงลบออกมาเพิ่มเติม อาทิ ยังโหวตนายกฯไม่ผ่านอีกทั้ง 2 รอบนี้ ตลาดก็ไม่จำเป็นต้องปรับตัวย่อลง ผลกระทบไม่ได้ลากต่อเนื่อง เพราะตลาดรับรู้ข่าวมากแล้ว โดยอาจเริ่มมองไปในแง่ปัจจัยพื้นฐาน และเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคว่าจะเป็นทิศทางอย่างไรแทน แต่บรรยากาศอึมครึมแบบนี้ก็อาจไม่ได้เป็นผลดีมากนัก โดยเฉพาะให้ต่างชาติมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงบ้านเรา

ADVERTISMENT

ฉากทัศน์ที่ประเมินไว้ในการโหวตเลือกนายกฯครั้งถัดไปนี้ มองไว้ 3 ด้าน ได้แก่

1.โหวตไม่ผ่าน มองว่าตลาดคงไม่ได้ตกใจมากเกินไปจนต้องปรับตัวลงมากนัก แต่จะเป็นการรอจับตาดูต่อว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกฯได้จริงๆ

2.หากโหวตไม่ผ่าน และมีการสลับเป็นเพื่อไทยเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก้าวไกลก็อยู่เป็นพรรคร่วมด้วย เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนตัวผู้นำ อันนี้ต้องติดตามว่าจะแบ่งงานกันอย่างไร เพราะนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ลักษณะนี้ตลาดทุนจะตอบรับในเชิงบวก เหมือนที่เราเห็นภาพการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของพรรคก้าวไกล อาทิ หุ้นพลังงาน กลุ่มผูกขาดต่างๆ แต่อาจยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเป็นข่าวดีสำหรับหุ้นกลุ่มเหล่านี้

3.การเปลี่ยนขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลพลิกข้างไปเลย ก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้าน ส่วนพรรคใด หรือขั้วใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลได้นั้น ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

ขณะนี้ภาพที่สร้างความกังวลให้กับนักเศรษฐศาสตร์ คือ 1.อยากให้มีความชัดเจนและความรวดเร็วในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะการเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน เป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องการประเมินภาพนโยบายเศรษฐกิจใหม่ และ 2.หวังว่าจะไม่มีการประท้วงที่รุนแรง เพราะหากเป็นการชุมนุมในขอบเขตจำกัดก็สามารถทำได้ เพื่อแสดงความคิดเห็น แต่หากมีความรุนแรงจะส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวไทยด้วย

⦁ฟันธงเปลี่ยนตัวเต็งนั่งนายกฯ

สอดคล้องกับกูรูในตลาดทุนไทย ที่มองภาพไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้จํากัด กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (ไอเอเอ) กล่าวว่า บรรยากาศตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้อาจไม่ได้วิ่งขึ้นแบบตื่นเต้นมากนัก เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนออกมามากนัก รวมถึงยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นด้วย โดยผลโหวตเลือกนายกฯรอบแรกที่ออกมาสะท้อนถึงสัญญาณที่ชี้ถึงโอกาสของพรรคก้าวไกลจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลลดน้อยลง แต่ยังมีโอกาสที่จะอยู่ในรัฐบาลได้

ซึ่งผลโหวตนายกรัฐมนตรี รอบแรกที่ผ่านไปนั้น ถือว่าสอดคล้องกับมุมมองของคนส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ว่าไม่น่าจะผ่านไปได้ รวมถึงมีบางส่วนยังไม่ได้สบายใจกับนโยบายของพรรคก้าวไกลมากนัก และมองว่าตลาดทุนน่าจะตอบรับในเชิงบวก หรือมีการฟื้นตัวขึ้นได้ แต่หากสรุปแล้วผลเกิดออกมาเป็นในลักษณะการสลับขั้วทางการเมือง จะมีความวุ่นวายและถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเข้ามาได้ จึงต้องไปวิเคราะห์กันต่อว่าขั้วใดจะมา กรณีนี้ไม่ได้อยู่ในฉากทัศน์ที่นักลงทุนประเมินไว้

ขั้นต่อไปเป็นการโหวตรอบสอง ประเมินว่าโอกาสที่จะผ่าน ก็น่าจะยังยากอยู่ หากยังเสนอชื่อเป็นนายพิธา เหมือนรอบแรก เพราะเสียงโหวตของ ส.ว. ที่ค่อนข้างห่างกว่า 50 เสียง ทำให้หากพรรคก้าวไกลยังอยากจะเป็นรัฐบาลต่อ มองว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ได้แก่ 1.ยอมถอยในบางเรื่องหรือลดเพดานลงมาค่อนข้างมาก ซึ่งก็น่าจะเป็นข่าวดี เพราะช่วงแรกที่มีความตื่นตระหนก เพราะกลัวว่าจะผลักดันครบทุกนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ และถึงแม้ว่าจะโหวตผ่านได้เป็นนายกฯ แต่เนื่องจากนายพิธา ยังมีหลายคดีที่ต้องพิสูจน์ ซึ่งอาจจะโดนสอยลงมาในช่วงใดก็ได้ ทำให้เสถียรภาพยิ่งดูไม่ได้ดีเท่าที่ควร หรือฟันธงไม่ได้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งครบ 4 ปี

ไพบูลย์ระบุต่อว่า และ 2.อาจต้องยอมเสนอชื่อนายกฯจากพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแทน ซึ่งในกรณีนี้ตลาดหุ้นจะชอบมากกว่า เพราะต้องยอมรับว่านาทีนี้นโยบายบางอย่างของพรรคก้าวไกล ถือว่ายังไม่ได้เป็นมิตรกับฝั่งตลาดทุนมากเท่าที่ควร ขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อตลาดทุน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ค่อนข้างมีแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักกว่านี้ได้

⦁ชี้ 3 ปัจจัยดันเศรษฐกิจโต

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น และความไม่ชัดเจนที่น่าจะยังลอยตัวอยู่อีกสักระยะ เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกไม่ได้สดใสมากนักพอดี ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินภาพครึ่งปีหลังที่เหลือนี้ มีเพียง 3 ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเท่านั้น ได้แก่ 1.จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นเร็วกว่าที่คาด และฟื้นเร็วกว่าที่เห็นช่วงครึ่งแรกของปี 2.ภาคการส่งออกที่น่าจะพลิกกลับมาเป็นบวก หลังจากติดลบต่อเนื่องในช่วงต้นปี และ 3.ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่น่าจะทรงตัว หรือกลับมาย่อลงเล็กน้อย ตามปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตช้าลง เป็นส่วนที่ช่วยลดค่าครองชีพให้คนในประเทศ สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มที่จะทรงตัวและลดลงต่อเนื่องได้

เมื่อปัจจัยหนุนหลักของเศรษฐกิจไทยอันดับแรกเป็นภาคการท่องเที่ยว แต่ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะเกิดการชุมนุมประท้วงลงถนนต่างๆ นั้น ยังกดดันอยู่ อาจกระทบกับการเข้ามาเที่ยวไทยของต่างชาติ ที่เราหวังไว้จะได้เห็นการฟื้นตัวกลับมาได้ดีกว่าเดิม ทั้งเทียบกับปี 2565 และเทียบกับต้นปีที่ถือว่ายังไม่ได้ฟื้นตัวดีเท่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่เข้ามาเที่ยวไทยในอัตราที่ช้า เพราะยังติดข้อจำกัดของวีซ่า และภาคเอกชนก็ประเมินว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจในจีนเองที่ไม่ได้ดีมากนัก ทำให้ปีนี้จีนอาจไม่ได้กลับมาเป็นตลาดความหวังหลักของไทยได้

จากมุมมองของกูรูข้างบน สะท้อนถึงประเทศยังปกคลุมด้วย บรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจติดๆ ขัดๆ ใช้งานไม่ได้เต็มที่ ผสมกับความไม่ชัดเจนของการเมืองไทย สัปดาห์นี้เชื่อว่าจะเห็นชัดเจนอีกระดับในทุกแง่มุม เมื่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของคนไทย รอบสอง ผ่านพ้นไป !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image