แกรนด์โอเพนนิ่ง ‘แอททริค’ สนามทดสอบรถระดับโลก

แกรนด์โอเพนนิ่ง ‘แอททริค’ สนามทดสอบรถระดับโลก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินโครงการจัดตั้ง ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (แอททริค) ขึ้น กรอบวงเงินงบประมาณ 3,705.7 ล้านบาทบนพื้นที่ 1,235 ไร่ ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 3,705.7 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

การตัดสินใจครั้งนั้นของรัฐบาลถือเป็นนโยบายสำคัญในการผลักศูนย์ทดสอบครบวงจรมาตรฐานโลกแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน กลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย รองรับทั้งรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ช่วยเร่งรัดการพัฒนาการมาตรฐานการวิจัยและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและยางล้อให้มีศักยภาพตามมาตรฐานสากล ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

ที่สำคัญยังช่วยดึงดูดค่ายรถยนต์จากทั่วโลกและผู้ผลิตชิ้นส่วนให้เข้าลงทุนในไทยทั้งรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพราะสามารถลดต้นทุนตรวจสอบมาตรฐานทั้งระบบ และยังลดต้นทุนการส่งรถยนต์ หรือชิ้นส่วนตัวอย่างไปตรวจมาตรฐานในต่างประเทศ!!

สนามแอททริค

มาวันนี้ แอททริค คืบหน้าไปอย่างมาก โดย สมอ.ได้พลิกโฉมสวนป่าลาดกระทิง ทำความเข้าใจชาวบ้านรอบพื้นที่ให้เห็นประโยชน์ต่อชุมชน เศรษฐกิจในพื้นที่และประเทศชาติ จนยกมือสนับสนุน พร้อมอนุรักษ์ต้นไม้สำคัญในพื้นที่ จัดหาบริษัทก่อสร้างจนสามารถเดินหน้าโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ 55% ใช้เงินงบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินงบประมาณ 1,667.69 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2569

Advertisement

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center ATTRIC) หรือแอททริค ปัจจุบันคืบหน้าไปมาก ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล

“แอททริค จะเป็นสถานที่ทดสอบยานยนต์ (Automotive) และยางล้อ (Tyre) มาตรฐานระดับโลก และจะเป็นฮับการทดสอบ (Testing) การวิจัย (Research) และนวัตกรรม (Innovation) อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก คาดว่าศูนย์ทดสอบฯจะมีรายได้กว่าปีละ 1,000 ล้านบาท รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ ประมาณ 30-50% และสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี” ปลัดณัฐพลให้ข้อมูล

ตั้งแต่เปิดให้บริการสนามทดสอบยางล้อ สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการสนามทดสอบยางล้อแล้วกว่า 300 ราย

Advertisement

ปลัดณัฐพลระบุด้วยว่า แผนงาน แอททริค ดำเนินการ 2 เฟส คือ เฟสแรก ส่วนทดสอบยางล้อ ได้ดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 (เกณฑ์มาตรฐานยางล้อที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปของสหประชาชาติ) อาคารสำนักงานพร้อมห้องปฏิบัติการและระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบความต้านทานการหมุน และชุดเครื่องมือทดสอบมลพิษทางเสียงขณะหมุนและการยึดเกาะถนนบนพื้นผิวเปียก โดยเปิดให้บริการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

เฟสที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนสนามทดสอบแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ อาคารควบคุมการทดสอบ สนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance) สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake (Test Hill)) สนามทดสอบพลวัต (Dynamic Platform) สนามทดสอบการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง (Skid-Pad)

รวมทั้งดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชุดทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย ระบบยึดแบบไอโซฟิก และจุดยึดไอโซฟิกท็อปเทเทอร์ ชุดทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศีรษะสำหรับใช้ในยานยนต์ ชุดทดสอบเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบห้ามล้อสำหรับรถยนต์บรรทุกและห้ามล้อสำหรับรถยนต์นั่งแล้วเสร็จ รวมปัจจุบันดำเนินการแล้ว 5 สนาม

ขณะนี้คงเหลือเพียงการก่อสร้างสนามที่ 6 คือ สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ(High speed) และทางวิ่ง(Run-In) ส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ จัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบการยึดเกาะถนนการเข้าโค้ง ชุดเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์เลี้ยวสำหรับยานยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์

ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชมรถยนต์ NEW MAZDA2 ที่ร่วมทดสอบสมรรถนะที่สนามของแอททริค

ในวันเดียวกันนั้น ปลัดณัฐพลให้การต้อนรับ นายทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้นำรถยนต์ NEW MAZDA2 ร่วมทดสอบสมรรถนะที่สนามของแอททริค โดยมีผู้บริหารกระทรวง และสื่อมวลชน ร่วมทดสอบด้วย สร้างความฮือฮา เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ค่ายรถยนต์ชั้นนำนำรถยนต์รุ่นใหม่มาทดสอบสมรรถนะ ถือเป็นวาระแกรนด์โอเพนนิ่งแอททริคอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และมาสด้า คาดว่าหลังจากนี้จะมีค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้าใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

ด้าน บรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ข้อมูลความคืบหน้าภารกิจเดินหน้าแอททริคในอีก 45% ที่เหลือว่า ขณะนี้เหลือการก่อสร้างสนามที่ 6 ทดสอบความเร็วและสมรรถนะและชุดทดสอบการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์เพื่อทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะใช้วงเงิน 1,667.69 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนช่วงปี 2566-68 แยกแต่ละปี ดังนี้ ปี 2566 วงเงิน 473.52 ล้านบาท ปี 2567 วงเงิน 597.09 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 597.08 ล้านบาท

หากลงลึกการใช้เงินเนรมิตสนามที่ 6 สนามสุดท้าย เพื่อทดสอบความเร็วและสมรรถนะ เลขาฯบรรจงระบุว่า จะใช้วงเงิน 954.71 ล้านบาท ช่วงปี 2566-68 แบ่งเป็น ปี 2566 วงเงิน 190.94 ล้านบาท ปี 2567 วงเงิน 381.88 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 381.88 ล้านบาท ขณะที่ชุดทดสอบการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์ วงเงิน 538 ล้านบาท ดังนี้ ปี 2566 วงเงิน 107.60 ล้านบาท ปี 2567 วงเงิน 215.20 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 215.20 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีสนามและแล็บทดสอบด้วย

บรรจง สุกรีฑา

ปัจจุบันชุดทดสอบการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์ และสนามตลอดจนแล็บทดสอบ ได้ผู้ชนะประมูลแล้ว ขณะที่สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ หรือไฮสปีด อยู่ระหว่างการประกาศเปิดประมูลครั้งที่ 2 ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังครั้งแรกมีผู้ยื่นรายเดียว จึงต้องเปิดประมูลใหม่เพื่อเปิดโอกาสทุกฝ่าย และให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรอบคอบ

“กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สมอ. ได้งบประมาณ 1,667.69 ล้านบาทมาเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เหลือเพียงการจัดจ้างที่ต้องเป็นไปตามแผน เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ เชื่อว่าเมื่อได้รัฐบาลใหม่จะยังคงตามแผนเดิม เพราะแอททริคคือประโยชน์มหาศาลของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่จะตอกย้ำความเป็นเบอร์ 1 ของภูมิภาคทั้งรถยนต์สันดาปภายในและอีวี พร้อมสร้างอานิสงส์ต่อระบบเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ชุมชนไปจนถึงภาพรวมของประเทศ” เลขาฯบรรจงทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image