‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ห่วงตั้ง รบ.ช้ากระทบจัดสรรงบปี’67 เลื่อน 1 ไตรมาส คาดรัฐเบิกจ่ายได้ต้นปีหน้า

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ เผยจัดตั้งรัฐบาลช้ากระทบจัดสรรงบปี’67 เลื่อน 1 ไตรมาส คาดรัฐเบิกจ่ายได้ต้นปีหน้า

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลไม่มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ เพราะไม่ว่าใครจะมา หรือจะมาเมื่อไหร่ก็ไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธปท.คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัวที่ 3.6% โดยจากการคาดการณ์เศรษฐกิจได้รวมความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจขยายกรอบการกำหนดออกไปจากเดือนสิงหาคม อยู่ในประมาณการเศรษฐกิจแล้ว

การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปจะมีผลต่อการเบิกจ่ายภาครัฐ โดยในส่วนของการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ขยับออกไป 1 ไตรมาส หรือหากมีรัฐบาลใหม่ได้แล้วจะเริ่มเดินหน้านโยบายได้ในปลายปี 2566 และจะสามารถเบิกจ่ายเงินงบได้ในต้นปี 2567 อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไตรมาส 4/2566 แต่กระบวนการของภาครัฐยังสามารถเบิกจ่ายได้ต่อเนื่องจากงบเดิมที่มีอยู่ ยกเว้นเรื่องงบด้านการลงทุนภาคเอกชน

“รัฐบาลเร็ว หรือช้าจะส่งผลกระทบจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่งบ แต่อยู่ที่ความเชื่อมั่น ถ้าดูรายงานของเครดิตเรตติ้ง หรือบริษัทการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ พบว่าเป็นห่วงเรื่องความไม่แน่นอนและนโยบาย เพราะตอนนี้ทั้งตลาดการเงิน นักวิเคราะห์ อยากเห็นนโยบาย (normalization) ทั้งฝั่งการเงินและการคลัง เพราะนโยบายมีผลต่อความเชื่อมั่น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ มุมมองต่อการดำเนินนโยบายขณะนี้ไม่เปลี่ยนแปลงในแง่เสถียรภาพ เพราะโจทย์คือต้องทำนโยบายการเงินและการคลัง (normalization) เพราะมีปัจจัยสะท้อนเศรษฐกิจระยะยาว ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นภาคการบริโภคมีไม่เยอะ เพราะภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาช่วยเศรษฐกิจ จึงดูว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า นอกจากนี้ เรื่องความเสี่ยงจากการทำนโยบายที่จะเพิ่มเรื่องของหนี้ เพราะหนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง แม้จะเหมือนเป็นยาวิเศษ แต่ไม่เห็นต้นทุน แต่ไปเห็นในอนาคต ขณะนี้ที่เป็นห่วงคือหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง หากมองการเป็นหนี้ในภาครัฐที่มีหนี้สาธารณะอยู่สูงเกือบชนกรอบที่ตั้งไว้ และในแง่เศรษฐกิจที่ใช้หนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น หนี้จากครัวเรือนกู้ก็ออกมาเป็นการบริโภค รัฐกู้ก็เป็นมาตรการกระตุ้น ถ้าเอกชนกู้ โดยปกติจะเป็นการลงทุน ซึ่งจะมาจากวิธีใดก็ตามก็กระตุ้นเศรษฐกิจ

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เศรษฐกิจขาดคือการลงทุน และสิ่งที่ควรทำในแง่นโยบายต้องทำให้เกิดในแง่เอกชน ไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจฝั่งอุปสงค์ แต่จะช่วยฝั่งอุปทานที่หายไปนานมาก” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

Advertisement

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image