‘แบงก์ชาติ’ เตรียมคลอดมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง เปลี่ยนพฤติกรรมผู้ให้กู้และผู้กู้ เริ่มใช้ปีหน้า

“แบงก์ชาติ” เตรียมคลอดมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง เปลี่ยนพฤติกรรมผู้ให้กู้และผู้กู้ เริ่มใช้ปีหน้า

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขหนี้มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การระบาดโควิด-19 ซึ่งมาตรการจะเป็นในลักษณะปูพรม แต่ปัจจุบันกลับมาเป็นเฉพาะเจาะจง (Targeting) มากขึ้น จะเห็นว่าภายหลังจากมีการปรับคำนิยามหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 90.6% ต่อจีดีพี

ซึ่งหนี้จะประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1.หนี้เดิม/หนี้เก่า โดยหนี้ส่วนใหญ่ประมาณ 70% จะมาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ราว 70% ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ราว 20% และอีก 10% จะมาจากธนาคารพาณิชย์ 2.หนี้เรื้อรัง 3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็ว และ 4.หนี้นอกระบบ

ดังนั้น ธปท.จึงจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมภายใต้การแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ให้กู้และผู้กู้ ซึ่งจะทำผ่านมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่จะมีผลภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 รวมถึงมาตรการแก้หนี้เรื้อรังภายใน 1 เมษายน 2567 อย่างไรก็ดี ธปท.จะมีการออก Directional Paper ภายในไตรมาสที่ 3/2566 นี้

Advertisement

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้ ธปท.จะดูแลหนี้ครบวงจร ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้เริ่มมีปัญหา และการถูกตัดหนี้ออก ซึ่งก่อนเป็นหนี้จะเป็นเรื่องของการโฆษณาต่างๆ ให้ผู้ให้กู้ชี้แจงรายละเอียดว่าอัตราดอกเบี้ยเท่าไร และผ่อนกี่งวด เพื่อให้ผู้กู้รับรู้และไม่ให้คนเป็นกับดักหนี้

และระหว่างเป็นหนี้ จะเห็นว่ามีคนผ่อนชำระได้ดี แต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ หรือเรียกว่า “หนี้เรื้อรัง” กลุ่มนี้จะมีมาตรการเข้ามาดูแลในส่วนของสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving) และสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ซึ่งจะเป็นมาตรการที่สถาบันการเงินจะต้องนำเสนอ (Off-In) โดยลูกหนี้ที่เข้าข่าย คือลูกหนี้ชำระหนี้ดอกเบี้ยสะสมมากกว่าเงินต้นมาแล้ว 5 ปี มีรายได้น้อยสอดคล้องกับฐานลูกค้าของสถาบันการเงิน

“โดยลูกหนี้ที่ต้องการปิดจบหนี้ แบงก์จะต้องมีช่องทางเสนอให้สามารถทำได้ และเปลี่ยนวงเงินจาก Revolving เป็น สินเชื่อแบ่งชำระ หรือ Term loan ซึ่งต้องปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี และดอกเบี้ยต่ำกว่า 15% แต่ลูกค้าอาจจะต้องมีชื่อแท็กในเครดิตบูโร เพราะก่อนออกแบบเราก็กังวลเรื่องวัฒนธรรมจงใจผิดชำระหนี้ ทำให้ต้องมีการพิจารณาพฤติกรรมที่ผ่านมาของลูกหนี้ด้วย” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image