รมต.คมนาคม เตือนนกแอร์ อย่าทำผิดซ้ำ เจอถอนใบอนุญาต “พาที” ขู่ ฟ้องกลับ อดีตกัปตัน

ที่กระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ได้รายงานกรณีการยกเลิกเที่ยวบินของสายการบินนกแอร์ให้ที่ประชุมทราบแล้ว ขณะเดียวกันในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนี้ได้เรียกนายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์เข้ามาว่ากล่าวตักเตือนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน คือ ขั้นแรกตักเตือน หากเกิดซ้ำครั้งที่ 2 จะพักใบอนุญาต และเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 จะเพิกถอนใบอนุญาตทันที โดยเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (เอโอแอล) ซึ่งมีเงื่อนไขอย่างชัดเจนว่าทางสายการบินจะต้องดูแลผู้โดยสารหรือการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นหนึ่งในมาตรฐานการกำกับดูแลสายการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ไอเคโอ) รวมถึงมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป(เอียซ่า) และสำนักบริหารการบินสหรัฐ(เอฟเอเอ)ด้วย
นายอาคม กล่าวว่า เรื่องสิทธิของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีมาตรการดูแล ดังนั้นภายใน 3 วัน คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ทางนกแอร์จะต้องทำรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบว่าแผนการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันทุกสายการบินต้องส่งแผนฉุกเฉินหรือแผนเผชิญเหตุกรณีที่เกิดความจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินทุกกรณี โดยต้องส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายใน 1 เดือน ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมจะเชิญสายการบินทั้งหมด 41 สายการบินมาทำความเข้าใจเกี่ยวกันเรื่องดังกล่าวประมาณสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า รวมถึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำ(ชาร์เตอร์ไฟล์ท์)ด้วย
นายอาคม กล่าวว่า ทั้งนี้เรื่องที่ต้องขอความร่วมมือกับทุกสายการบิน คือระดับผู้บริหารสูงสุดหรือซีอีโอจะต้องลงพื้นที่ทันที หากไม่สามารถลงไปได้จะต้องมีผู้ที่ได้รับมอบอำนาจตัดสินใจได้ในการแก้ไขปัญหาหน้างานได้ หรือต้องทำความเข้าใจกับผู้โดยสารเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ซึ่งได้แจ้งนกแอร์ไปว่าจะต้องแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย
นายพาที ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เกิดจากช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีที่ผ่านมา นกแอร์อยู่ระหว่างยกระดับมาตรฐานให้ไปถึงเอียซ่า และมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน (IOSA หรือไอโอซ่า) ซึ่งนกแอร์ต้องการให้มีการตรวจสอบประมาณปลายเดือนมีนาคมนี้ ดังนั้นสิ่งที่นกแอร์ทำมาตลอด คือ ทำอย่างไรที่จะสร้างมาตรฐานและกระบวนการในเชิงของการจัดการให้มีมาตรฐานของเอียซ่า และไอโอซ่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องของมาตรฐานนักบิน โดยสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อต้องการให้กระบวนการต่างๆถูกต้องทางนกแอร์ได้เชิญบริษัทซึ่งเป็นพันธมิตรของนกแอร์จากยุโรปเข้ามาช่วยตรวจสอบให้กับนกแอร์ในเบื้องต้นก่อน เพื่อให้มีมาตรฐานก่อนที่จะตรวจสอบจริง
นายพาที กล่าวว่า เมื่อการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีอำนาจที่ผิดรูปแบบ ก็จะเปลี่ยนกระบวนการต่างๆใหม่ เช่น ตามปกติฝ่ายปฏิบัติการบินของนกแอร์จะเป็นคนตรวจสอบต่างๆเอง แต่จากการตรวจสอบเห็นว่าฝ่ายนี้จะต้องไปอยู่กับฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องเป็นคนละคนกันกับการบิน ไม่ใช่ตัวเองตรวจสอบกันเอง เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบที่ถูกต้อง จึงเกิดปัญหาขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“สิ่งที่เกิดขึ้น อาจสันนิษฐานได้ว่านักบินไม่พอใจ ในเชิงที่เมื่อก่อนเขามีอำนาจควบคุมตรงจุดนี้ แต่จะมีการแยกตรงนี้ออกไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับมาตรฐานของนักบินนกแอร์ เพราะผ่านมาตรฐานไอเคโออยู่แล้ว นักบินไม่ได้มีปัญหาการบิน เรื่องนี้คนเข้าใจผิดมาก” นายพาที กล่าว
นายพาที กล่าวว่า ที่ผ่านมานักบินบางกลุ่มจะบินด้วยและบางกลุ่มจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการด้วย จะเป็นผู้ตรวจสอบความปลอดภัยเที่ยวบินต่างๆด้วย ที่ถอนอำนาจออก เพราะต้องการเอาคนจากที่อื่นที่มีทักษะในเรื่องของการจัดการมาทำหน้าที่แทน “ส่วนนักบินที่เคยทำหน้าที่ก็บอกไปว่า ถ้าเป็นนักบิน ก็ไปบิน อย่าทำเรื่องการจัดการเลยเพราะไม่ถนัดตรงนี้ นี่คือสิ่งที่นกแอร์ต้องการ” นายพาทีกล่าวและยืนยันว่า ไม่ต้องการไล่นักบินออก เพียงแต่ให้เขาทำหน้าที่บินจริงๆ และให้มีด้านความปลอดภัยมาควบคุมจริงๆ
นายพาที กล่าวถึงกรณีกัปตันศานิต คงเพชร ที่ถูกไล่ออกว่า ที่ไล่ออกเพราะทำผิดวินัยที่ร้ายแรงจริงๆ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในระหว่างประชุมอยู่นั้นกัปตันศานิต ได้เข้ามาเซ็นตอน 14.15 น. เพื่อที่จะทำการบินตอน 15.00 น. แสดงว่าเขาจะขึ้นบิน พร้อมบอกผู้ช่วยนักบินให้ไปรอที่เครื่องบินเลย แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่าหายไปเลย ทำให้เครื่องบินล่าช้า(ดีเลย์) และต้องเอาคนอื่นมาทำหน้าที่แทน ถือว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรง เพราะตารางบินวันนั้นมีรวม 4 เที่ยว เมื่อหายไปจะมีผู้โดยสารประมาณ 800 คนจะได้รับผลกระทบ ที่สำคัญหากบอกว่าไม่สบายก็ไม่ว่าอะไร แต่อย่างน้อยต้องแจ้งให้ทราบ จะได้หาคนไปแทนได้ ไม่ใช้หายไปเฉยๆ ดังนั้นหากกัปตันศานิตจะฟ้อง ก็จะฟ้องกลับ เพราะทำผิดวินัยจริง ส่วนพนักงานที่เหลือตามข่าว อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบว่าใครผิดตรงไหน ไม่ผิดตรงไหน คาดว่าช่วงเย็นวันเดียวกันนี้จะทราบผล และอาจแถลงในวันที่ 17 กุมภาพันธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image