“แบงก์ชาติ” จ่อออกเกณฑ์แก้หนี้เรื้อรัง ขอเจ้าหนี้หั่นดอกเบี้ย 15% อุ้มปิดจบลูกหนี้ 5 แสนบัญชี

“แบงก์ชาติ” จ่อออกเกณฑ์แก้หนี้เรื้อรัง ขอเจ้าหนี้หั่นดอกเบี้ย 15% อุ้มปิดจบลูกหนี้ 5 แสนบัญชี

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท.ได้ออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน (Directional Paper) ภายหลังจากหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 90.6% หรือจำนวน 16 ล้านล้านบาท เมื่อหนี้อยู่ระดับสูง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน อาจลุกลามเป็นปัญหาสังคมต่อไปได้ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ ธปท.จะออกมาตรการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน

“โดยมาตรการแก้หนี้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนนั้น ธปท.จะเปิดรับฟังความเห็น (consultation paper&public hearing) ภายในไตรมาส 3/2566 และจะเริ่มทยอยออกเกณฑ์ได้ภายในไตรมาส 4/2566” นายรณดล กล่าว

นายรณดล กล่าวว่า โดยมาตรการจะเร่งบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 โดยสรุปหลักเกณฑ์มีสาระสำคัญ ดังนี้ ผู้ให้บริการต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ เริ่มตั้งแต่ก่อน/กำลังจะเป็นหนี้ ต้องโฆษณาและเสนอขายผลิตภัณฑ์ โดยให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ชัดเจน ไม่กระตุ้นให้ลูกหนี้เป็นหนี้เกินตัว

Advertisement

ระหว่างเป็นหนี้ ต้องกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (nudge) รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน เช่น ทำระบบอัตโนมัติให้ลูกหนี้จ่ายชำระมากกว่าขั้นต่ำ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย

“เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ ต้องมีแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และเมื่อจะดำเนินคดีและโอนขายหนี้ ต้องแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ ตลอดจนผู้รับโอนหนี้ต้องกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้อย่างเหมาะสม” นายรณดล กล่าว

-หั่นดอก 15% แก้หนี้เรื้อรัง

Advertisement

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ปัจจุบันพบว่ามีประมาณ 500,000 บัญชี สำหรับผู้จะเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังจะเป็นกลุ่มลูกหนี้ในสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (revolving personal loan) โดยมีสถานะเป็นลูกหนี้ปกติ แต่ชำระหนี้ลักษณะจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าจ่ายเงินต้น ซึ่งมาตรการการจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เพื่อให้ผู้ให้บริการมีเวลาในการปรับระบบงาน และจะทยอยใช้ตามระดับรายได้ของลูกหนี้ ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ให้บริการแต่ละกลุ่ม

สำหรับนิยามการเป็นกลุ่มลูกหนี้เรื้อรังแบ่งเป็น 1.กลุ่มสีเขียว (General PD) โดยที่มองย้อนหลัง 3 ปี ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น เบื้องต้น ธปท.จะให้ผู้ประกอบการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้โดยส่งสัญญาณ (ข้อความ) ว่าลูกหนี้มีโอกาสเป็นหนี้เรื้อรัง จึงแนะนำให้จ่ายชำระหนี้ต่อเดือนให้มากขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น

2.กลุ่มสีแดง (Sever PD) ธปท.กำหนดปัจจัยลูกหนี้จะเป็นกลุ่มนี้ 2 ประเด็น 1.มองย้อนกลับไป 5 ปี ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นจะเรียกว่าเป็นหนี้เรื้อรัง 2.รายได้ ถ้าเป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจ จะต้องมีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์อื่นๆ กำหนดรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้ (opt-in) ภายใต้มาตรการแก้หนี้เรื่อรังจะสามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี และมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี จากเดิมผู้ให้บริการต้องได้รับดอกเบี้ยจากกลุ่มนี้ตามสัญญาเดิมสูงสุด 25% เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งขอให้ลดดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกหนี้สามารถจ่ายหนี้ได้และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ ขณะเดียวกัน ลูกหนี้ต้องปิดวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียนดังกล่าว เพื่อไม่ก่อหนี้เพิ่ม และควรมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าลูกหนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้

-เล็งทำแซนด์บ็อกซ์คิดดอกตามความเสี่ยง

นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า นอกจากนี้ ธปท. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การทดสอบโครงการแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ในมาตรการการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) จะเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ดี จะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมด้านสินเชื่อที่ดี โดยจะยังไม่มีการยกเลิกหรือขยับเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นการทั่วไป

ทั้งนี้ ไตรมาส 2/2567 ธปท. จะให้ผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเข้าทดสอบการให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เป็นเวลา 1-2 ปี โดยผู้ให้บริการต้องเสนอระบบประเมินความเสี่ยงและรูปแบบการกระจายตัวของดอกเบี้ยในแต่ละกลุ่มลูกหนี้ให้ ธปท. พิจารณาก่อนเข้าทดสอบ และเมื่อผ่านการทดสอบ ผู้ให้บริการจึงจะให้สินเชื่อภายใต้เพดานดอกเบี้ยใหม่ได้

“ธปท.จะกำหนดหลักเกณฑ์การออกจากโครงการแซนด์บ็อกซ์ ที่วัดความสำเร็จได้ชัดเจน และสำหรับผู้ให้บริการที่ไม่ผ่านการทดสอบจะต้องกลับไปใช้เพดานดอกเบี้ยเดิม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ธปท.จะดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลไกนี้จะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้อย่างแท้จริง” นางสาวสุวรรณี กล่าว

-ปั้นโมเดลกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้

นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า สำหรับมาตรการการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) เพื่อดูแลการก่อหนี้ใหม่ ลดการก่อหนี้เกินตัว ให้ลูกหนี้มีรายได้หลังชำระหนี้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มใช้กับสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ โดยกำหนดว่าหากลูกหนี้รายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน กำหนด DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 60% และรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 70%

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้ประเมินว่าลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ แม้ว่า DSR จะสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด เจ้าหนี้สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้ แต่ DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 90% และสินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ต้องมียอดไม่เกิน 15% ของสินเชื่อปล่อยใหม่

“โดย DSR คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี 1 มกราคม 2568 ธปท.จะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเมื่อประเมินว่าเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งเพียงพอ และสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนและเจ้าหนี้ก่อนเริ่มบังคับใช้จริง” นางสาวสุวรรณี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image