ชาวนาไทยจนสุดในเอเชีย-อาเซียน 10ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น รายได้ลด ต้นทุนพุ่ง ฝาก รบ.ใหม่ แก้ปัญหาให้ตรงจุด

แฟ้มภาพ

‘ม.หอค้าฯ’ เผยชาวนาไทยยังจนที่สุดในเอเชีย-อาเซียน 10 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น รายได้ลด ต้นทุนพุ่ง ชี้การแทรกแซงตลาดไม่ได้ทำให้ดีขึ้น แต่ยิ่งฉุดให้แย่ ฝาก รบ.ใหม่ แก้ปัญหาให้ตรงจุด

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์และสำรวจข้อมูลพบว่า การผลิตข้าวของโลก เมื่อปี 2565 ประเทศผู้ผลิตข้าวมากที่สุดของโลก คือ ประเทศจีน โดยผลิตข้าวสารได้ 145,946 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 28.5% ของการผลิตข้าวสารโลก อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวสารของจีนลดลง 2% เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 ลดลง 0.4% อินเดีย ผลิตข้าวสารได้มากเป็นอันดับสองของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 136,000 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 26.5 ของการผลิตข้าวสารโลก ซึ่งการผลิตข้าวสารของอินเดียเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 หรือคิดเป็น 3.8%

ขณะที่ การส่งออกข้าวของโลกพบว่า ประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลกในปี 2565 คือ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ตามลำดับ ประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของอินเดีย คือ บังกลาเทศ ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน ส่วนประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของไทยในปี 2565 คือ อิรัก สหรัฐ แอฟริกาใต้ และจีน ขณะที่เวียดนาม มีคู่ค้าที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ กานา และจีน

นายอัทธ์ พิศาลวานิช

ส่วนประเทศอาเซียนที่ส่งออกข้าวไปโลกมากที่สุดในปี 2565 ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา โดยส่งออกเป็นมูลค่า 3,548 ล้านเหรียญสหรัฐ 2,186 ล้านเหรียญสหรัฐ 406 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 394 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ ประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญทั้งกับไทยและเวียดนาม รวมไปถึงเมียนมาและกัมพูชาด้วย เปรียบเทียบชาวนาไทยกับอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา ในช่วง 10 ปี (ปี 2555-2565) พบว่า ผลผลิตข้าวไทยลดลง รายได้และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่ง และต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นรองจากอินเดีย

ดังนั้น จากบทเรียนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการแทรกแซงตลาดข้าวไม่ใช่ทางออกของการพัฒนาข้าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประกันรายได้ข้าว การประกันราคาข้าว หรือการจำนำข้าว 10 ปีที่ผ่านมา ย้ำชัดเจนว่า นโยบายการแทรกแซงตลาดไม่ได้ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าชาวนา แต่ชาวนากลับมีรายได้ลดลง และติดลบ ซึ่งจะการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าชาวนาไทย จนที่สุดในเอเชีย และกลุ่มประเทศอาเซียน

Advertisement

“ขอฝากถึงรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ว่า 1.ภาครัฐต้องเข้าไปแก้ปัญหาชาวนา และปัญหาข้าวของไทยให้ตรงจุด 2.ต้องดูคู่แข่งเป็นกระจกสะท้อนว่าประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนาข้าว ที่ส่งผลให้ชาวนามีรายได้เป็นบวกได้อย่างไร เราไม่สามารถที่จะละเลยตลาดโลกไปได้ หรือละเลยศักยภาพการผลิตของไทยกับคู่แข่งได้ หรือใช้วิธีคิดราคาตกไม่เป็นไร เดี๋ยวภาครัฐเข้าไปแทรกแซง ซึ่งเม็ดเงินในการแทรกแซงตลาดข้าว หรือเงินในการแทรกแซงสินค้าเกษตรของไทย ควรนำเงินจำนวนนั้นมาเป็นรางวัลให้เกษตรกรที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิตได้ ยังดีเสียกว่า เพราะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพทางการแข่งขันไปในตัว” นายอัทธ์กล่าว

นายอัทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องคิดถึงเรื่องน้ำให้มากที่สุด เพราะไม่มีน้ำจะไม่สามารถทำนา และสินค้าเกษตรอื่นๆ ได้เลย รวมถึงมองว่าเรื่องน้ำจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ นับจากนี้เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นเรื่องน้ำ ทางภาครัฐจะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) หรือให้เงินอุดหนุนเกษตรกรรายบุคคล หรือรายกลุ่ม เพื่อให้นำเงินไปขุดบ่อกักเก็บน้ำ เตรียมรับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องคิดหาแนวทางในการรับมือต่อไป เพราะปัจจุบันเป็นหน้าฝนแต่ปัจจุบันหลายจังหวัดเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image