กว้านซื้อตึกแถว ทางออก ‘แอชตันอโศก’ แพงแค่ไหนก็ต้องจ่าย แลกทุบทิ้ง

กว้านซื้อตึกแถว ทางออก ‘แอชตันอโศก’ แพงแค่ไหนก็ต้องจ่าย แลกทุบทิ้ง

แอชตันอโศก – สร้างแรงกระเพื่อมให้ทั้งวงการอสังหาริมทรัพย์และหน่วยงานราชการ พลันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการ “แอชตัน อโศก” ในซอยสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมทุนกับมิตซุย ฟูโดซัง บิ๊กทรีธุรกิจอสังหาจากประเทศญี่ปุ่น

เนื่องจากที่ดินใช้ก่อสร้างอาคารโครงการ ไม่เป็นไปตามที่กฎกระทรวงฉบับที่33 ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนด เพราะไม่มีเขตที่ดินด้านหนึ่งด้านใดที่เป็นทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรยาวต่อเนื่องกัน และใบอนุญาตการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นทางเข้าออกสาธารณะได้นั้น ขัดต่อวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนที่ดิน

จากคำพิพากษาถือว่าเป็นที่สิ้นสุดที่ออกมาเมื่อบ่ายแก่ๆของวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 แบบสดๆ ร้อนๆ โดยทางผู้บริหารของ “อนันดา” ขอเวลา 14 วัน หารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) และรฟม. เพื่อหาทางออกของปัญหา แม้จะยังไม่รู้ว่าจะมีปฎิหาริย์โดยไม่ต้องทุบตึกทิ้งหรือไม่

Advertisement

สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมสุดหรู “แอชตัน อโศก” มีเนื้อที่กว่า 2 ไร่ สร้างเป็นอาคารสูง 51 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน มีจำนวน 783 ยูนิต ที่จอดรถ 371 คัน ลิฟต์โดยสาร 6 ตัว ราคาขายเริ่มต้น 7 ล้านบาท หลังเปิดขายเมื่อปี 2557 สามารถปิดการขายไม่ถึง 1 เดือน

 

จากนั้นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ยื่นก่อสร้างอาคาร ตามมาตรา 39 ทวิ ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522  จากกทม.และเริ่มก่อสร้างจนแล้วเสร็จ

Advertisement

เริ่มโอนกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันขายและมีส่งมอบไปแล้ว 87% จำนวน 668 ยูนิต กว่า 5,653 ล้านบาท มีลูกบ้านทั้งคนไทยและต่างชาติอยู่อาศัยแล้ว 580 ครอบครัว

ย้อนดูแปลงที่ดินที่ตั้งโครงการ ที่ “อนันดา” ซื้อเป็นการรวบรวมซื้อ 3 แปลง รวมที่ดินยังเหลือจากการที่ถูกเวนคืน จากรฟม.เพื่อสร้างรถไฟฟ้าเมื่อปี 2539 ซึ่งเป็นที่ตาบอดไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ เพราะรฟม.เวนคืนที่ดินด้านหน้าติดถนน ซึ่งรฟม.เยียวยาผู้ถูกเวนคืนโดยเปิดเป็นทางจำเป็นกว้าง 6.40 เมตรให้เข้าออก

แต่ด้วยขนาดถนน 6.40 เมตร ไม่พอต่อการสร้างอาคารขนาดใหญ่ ในปี 2557 “อนันดา” ได้ยื่นต่อรฟม.ขอขยายถนนทางเข้าออก เป็น 13 เมตร พร้อมจ่ายค่าตอบแทนให้ 97 ล้านบาท โดยได้ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 แต่ยังมีประเด็นฟ้องร้องทางรฟม.จึงยังไม่รับเงินก้อนดังกล่าว

เรียกว่าโครงการอยู่บนทำเลทอง เป็นย่านธุรกิจ มีรถไฟฟ้า 2 สาย 2 สี “MRT-BTS” เชื่อมการการเดินทาง และใกล้ศูนย์การค้าดังเทอร์มินัล 21

ขณะที่ราคาที่ดินติด “ถนนสุขุมวิท 21” ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 11.35% จากเมื่อปลายปี 2558 ราคาตลาดที่ประเมินไว้อยู่ที่ 1.1 ล้านบาทต่อตารางวา ขณะนี้ราคาอยู่ที่ 2.6 ล้านบาทต่อตารางวา

ถามว่าเมื่อคดีเป็นที่สิ้นสุด ใบอนุญาตก่อสร้างเป็นโมฆะ ทางผ่านด้านติดMRT ถูกปิดตาย เพราะศาลชี้ชัดไม่ใช่เป็นทางสาธารณะ แล้วทางออกของ “แอชตัน อโศก” อยู่ตรงไหน

แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์ และกทม. ฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่ามีทางออกเดียว คือ ต้องหาทางออกเป็นถนนกว้าง 12 เมตรติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร มี 2 ทางคือ ซื้อตึกแถวขยายทางเดิมให้ถึง 12 เมตร ไปออกซอยสุขุมวิท19 กับอีกทางซื้อที่ดินเพิ่มด้านใต้ซึ่งมีอยู่ 1 แปลง เป็นที่ตั้งสมาคมแห่งหนึ่ง เพื่อออกถนนอโศกมนตรี และยื่นขออนุญาตก่อสร้างกับกทม.ใหม่

“ตอนนี้อนันดาต้องลงทุนซื้อตึกแถวหรือที่ดิน เพื่อทำทางออกให้ได้ 12 เมตร แพงเท่าไหร่ก็ต้องซื้อ แลกกับการที่ไม่ต้องทุบตึก 6,400 ล้านบาท วิธีนี้เป็นทางออกให้กับลูกบ้านและบริษัทที่ดีที่สุดแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกทมกล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.พร้อมปฎิบัติตามคำสั่งศาลฯ ทั้งนี้ตามขั้นตอนทางสำนักงานเขตวัฒนาต้องออกคำสั่งตามมาตรา 40 และมาตรา 41 ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้เจ้าของอาคารระงับการใช้อาคารและให้ยื่นขออนุญาตเปลี่ยนแปลงทำให้ถูกต้องตามกฎหมายในเวลาที่กำหนด ทั่งนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของบริษัทด้วย

ทุกปัญหาย่อมมีทางออก อยู่ที่ “อนันดา” จะเลือกทางไหน แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน อย่าทิ้งลูกบ้าน 580 ครอบครัวไว้กลางทางเป็นดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image