แบงก์ชาติ จับตา 3 ความเสี่ยงเศรษฐกิจ ชี้ตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ยืด กระทบเชื่อมั่น

“แบงก์ชาติ” จับตา 3 ความเสี่ยงเศรษฐกิจ ชี้ตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ยืด กระทบเชื่อมั่น

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองระยะถัดไป ว่า จากข้อมูลจากการประมาณการเศรษฐกิจครั้งล่าสุด ได้ประเมินถึงการล่าช้าของงบประมาณปี 2567 จะขยับออกไป แต่ผลขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า และยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการเมืองจะขึ้นอยู่กับระยะเวลา ซึ่งการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐบาลในงบประจำยังสามารถดำเนินการได้ในกรอบเดิม แต่จะล่าช้าในเรื่องของงบลงทุน ทั้งนี้ ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลลากยาวออกไปจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการเมืองไทย

“ระยะถัดไปความเสี่ยงหลักที่ ธปท.จับตาคือเศรษฐกิจการเงินโลก 1.ความเสี่ยงก็เป็นเรื่องที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอลงกว่าที่คาดการณ์หรือไม่ 2.ความเสี่ยงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ว่าจะมีนโยบายที่ส่งต่อความเชื่อมั่น ถ้าเกิดในกรณีที่การจัดตั้งลากยาวออกไป และ 3.ผลกระทบจากค่าครองชีพที่ยังสูง ส่งผลต่อกลุ่มเปราะบาง ธปท.ก็มีมาตรการดูแลหนี้ครัวเรือนเข้ามาสนับสนุน” น.ส.ชญาวดี กล่าว

Advertisement

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ จำนวนอยู่ที่ 2.24 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 2 ล้านคน รวมทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นที่ 2.5% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 0.6% มาจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน และการส่งออกยานยนต์ไปออสเตรเลียและสหรัฐเป็นสำคัญ

ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ขาดดุล 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุมาจากดุลการค้าที่ปรับดีขึ้น เนื่องจากการส่งออกดีขึ้นและการนำเข้าลดลง ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่ลดลงจากเดือนก่อน

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทรงตัว เช่น หมวดยาง เครื่องดื่ม การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ลดลงอยู่ที่ 2% จากไตรมาสก่อนที่ 0.5% โดยการผลิตปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นจากการกลับมาผลิตตามปกติ หลังปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเดือนก่อน

Advertisement

สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยที่ 0.3% จากไตรมาสก่อนที่ 1.3% ในเกือบทุกหมวด หลังปัจจัยชั่วคราวหมดลง ประกอบกับการเร่งส่งมอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการทรงตัว

ด้านปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นทั้งการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นราว 60% อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงทั้งค่าไฟฟ้าสูง เสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดที่ 5.9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับผลของฐานสูงที่มีการเบิกจ่ายงบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาโควิดในปีก่อน และจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวที่ 3.6% ตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทานที่ได้เร่งเบิกจ่ายไปแล้ว สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวที่ 37.4% ตามการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านพลังงานและคมนาคม

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงที่ 0.23% จากเดือนก่อนที่ 0.70% มาจากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ตามราคาเนื้อสุกรและผักสด เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อนฐานลดลง 1.32% จากเดือนก่อนที่ 1.55% จากผลของฐานสูงในราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับเหรียญสหรัฐในเดือนมิถุนายน เฉลี่ยอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 34.63 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ตามการดำเนินนโยบายนโยบายทางการเงินตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด และสถาบันการทางการเมืองของไทยทำให้เฃินบาทอ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน ข้อมูลวันที่ 25 เดือนกรกฎาคม ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามการปรับลดการคาดการณ์ปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐออกมามีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ดัชนีค่าเงินก็ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน

“มองไปข้างหน้า ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ สะท้อนการค้นหาเที่ยวบินของชาวต่างชาติ การส่งออกทรงตัว ตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ปลายปีนี้จะปรับดีขึ้นตามวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะกลับมาดีขึ้น แต่ยังต้องระวังความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจต่อในระยะต่อไป” น.ส.ชญาวดี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image