กนอ.ปักหมุดพาชม4มิวเซียมญี่ปุ่น จิ๊กซอว์ความเจริญทางเศรษฐกิจ สู่ผู้นำอุตสาหกรรมโลก

กนอ.ปักหมุดพาชม4มิวเซียมญี่ปุ่น จิ๊กซอว์ความเจริญทางเศรษฐกิจ สู่ผู้นำอุตสาหกรรมโลก

กนอ.ปักหมุดพาชม4มิวเซียมญี่ปุ่น
จิ๊กซอว์ความเจริญทางเศรษฐกิจ
สู่ผู้นำอุตสาหกรรมโลก

ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะสื่อมวลชนสายอุตสาหกรรม มีโอกาสร่วมคณะผู้บริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. เยือนเมืองอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงและเป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น นั่นคือ “นาโกย่า”

เป้าหมายหลักของทริปคือ กิจกรรมชักจูงการลงทุน หรือโรดโชว์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่น ทั้งผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนไทยให้มากและเร็วที่สุด

ดร.วีริศระบุถึงการโรดโชว์ครั้งนี้ว่า กิจกรรมโรดโชว์ญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นทริปญี่ปุ่นสุดท้ายของปีงบประมาณ 2566 กิจกรรมเน้นจัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนในหัวข้อ “Manufacturing Game Changers! It’s Time for Thailand” วางเป้าหมายดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เอส-เคิร์ฟ และนิว เอส-เคิร์ฟ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก โดยมีคณะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมจาก 10 นิคม เข้าร่วมด้วย

Advertisement

นอกจากกิจกรรมสัมมนา คณะของ กนอ. ยังพบปะนักลงทุนรายบริษัทในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

ประเมินผลการโรดโชว์ทริปนี้สามารถดึงดูดการลงทุนเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 3,700 ล้านบาท!!

ไม่เพียงเป้าหมายการโรดโชว์ดึงการลงทุนประเทศมหามิตรเศรษฐกิจไทย แต่ กนอ.ยังจัดกิจกรรมเยี่ยมชมมิวเซียมถึง 4 แห่ง ให้คณะสื่อมวลชนได้เรียนรู้ ร่วมต่อจิ๊กซอว์เรื่องราวฟันเฟืองเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ก่อนจะขึ้นมหาอำนาจภาคอุตสาหกรรมของโลก

Advertisement

ปักหมุดจุดแรก
คือ พิพิธภัณฑ์การรถไฟ SCMAGLEV

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เน้นให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสประสบการณ์ต่างๆ พร้อมเรียนรู้ระบบขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟของญี่ปุ่นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ภาพรถไฟหลากหลายขบวนที่มารวมตัวอยู่เบื้องหน้า สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่น้อย

บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงรถไฟที่ทำความเร็วสถิติโลกหลายขบวน มีตู้รถไฟของจริง 39 ตู้ ทั้งหัวรถจักรไอน้ำ รถรางไฟฟ้าและดีเซล ชินคันเซ็นโทไคโด รวมทั้งรถไฟที่ลอยอยู่เหนือรางแม่เหล็กตัวนำยิ่งยวดแม็กเลฟที่วางแผนเชื่อมต่อนาโกย่าและโตเกียวใน 40 นาที ตั้งแต่ปี 2027 เป็นต้นไป เพื่อตอกย้ำว่า การพัฒนาการรถไฟของประเทศญี่ปุ่นได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการอื่นๆ ทั้งห้องประวัติการรถไฟ และโซนรถไฟหาชมยาก และห้องเด็กเล่นในธีมรถไฟแสนสนุก ภายในอาคารยังมีร้านค้าขายของที่ระลึกเกี่ยวกับรถไฟมากมาย อาหาร เครื่องดื่ม ที่ให้ความรู้สึกดื่มด่ำกับข้าวกล่องมื้อเที่ยงในธีมรถไฟ

ปักหมุดจุดสอง
คือ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีโตโยต้า

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือความยิ่งใหญ่ทางอุตสาหกรรมรถยนต์ประเทศญี่ปุ่น

เพราะอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกมาช้านาน โดยหนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกลุ่มบริษัทโตโยต้า ค่ายรถญี่ปุ่นที่ครองตลาดคนไทยมายาวนานเช่นกัน

โดยโตโยต้ามีจุดเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตสิ่งทอมาก่อน ผู้ก่อตั้งคือ ซากิจิ โทโยดะ จนทำให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการผลิตสิ่งทอ

ต่อมา คิอิจิโระ บุตรชายคนโตได้ประยุกต์เครื่องจักรเข้ากับเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นผลิตยานยนต์และให้กำเนิดบริษัทโตโยต้ามอเตอร์

ตัวพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีโตโยต้า ตั้งอยู่บนที่ดินดั้งเดิมของบริษัท ใจกลางนาโกย่า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานีนาโกย่า อาคารสร้างจากอิฐแดงสะดุดตา เรื่องราวภายในจัดแสดงประวัติของกลุ่มโตโยต้า ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ในฐานะผู้ผลิตสิ่งทอไปจนถึงการเป็นผู้ผลิตยานยนต์ระดับนานาชาติและพัฒนาสิ่งต่างๆ มากมาย

พิพิธภัณฑ์จัดแสดงหลายส่วน อาทิ ส่วนจัดแสดงเครื่องจักรสิ่งทอและหอจัดแสดงยานยนต์ ภายในมีเครื่องจักรหลายเครื่องซึ่งได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและยังทำงานได้จริง น่าจดจำอย่างมาก

ขยับมาส่วนจัดแสดงรถยนต์ ยานพาหนะ หลากยุค ตั้งแต่โตโยต้าคันแรก รุ่นแรก จนถึงยุคปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ภาพที่เห็นตรงหน้าคือ รถยนต์โตโยต้ารุ่นต่างๆ หลากรูปทรง จอดเรียงรางจำนวนมาก รถยนต์แต่ละคันสวยเตะตา สภาพดูใหม่เอี่ยม จนอยากจะทดลองขับจริงๆ

นอกจากนี้ ในพิพิธภัณฑ์ยังรวบรวมรถยนต์จากค่ายอื่นๆ ทั่วโลกจำนวนมาก จอดเรียงราย เพลินตา ประทับใจคนชอบรถแน่นอน

อีกจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีโตโยต้า คือ การเปิดพื้นที่ให้ผู้เยี่ยมชม โดยเฉพาะเด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตสิ่งทอและยานยนต์ผ่านการเล่นกับสิ่งจัดแสดง เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่โต้ตอบได้ พร้อมมีคำแปลและป้ายภาษาอังกฤษ

การสาธิตที่โต้ตอบได้ อาทิ ระบบบังคับทิศทางและระบบกันสะเทือนทำงานอย่างไร กระปุกเกียร์ทำงานอย่างไร เชื่อว่าพื้นที่เหล่านี้จะทำให้ผู้เข้าชมตื่นเต้น เพลิดเพลิน และที่สำคัญคือได้สาระด้วย

ภายในพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีโตโยต้า ยังมีภัตตาคาร คาเฟ่ สวน และร้านค้าพิพิธภัณฑ์ให้ผู้เยี่ยมชมได้ชิมได้ช้อปเพลินๆ

ปักหมุดจุดสาม คือ ท่าเรือนาโกย่า

อีกจุดที่คณะ กนอ.พาสื่อมวลชนมาเปิดประสบการณ์ คือ การเยี่ยมท่าเรือนาโกย่า โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเมืองนี้

ท่าเรือนาโกย่า ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของใจกลางเมืองนาโกย่า ภายในจังหวัดไอจิ นับเป็นหนึ่งในท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นและได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองนาโกย่า

นั่นเพราะท่าเรือแห่งนี้มีการปรับพื้นที่ในท่าเรือให้เป็นมากกว่าแค่ท่าเรือทั่วไป ทั้งการปรับบริเวณต่างๆ ให้กลายเป็นย่านสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของบรรดาชาวเมือง รวมไปถึงนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก และพิพิธภัณฑ์อื่นๆ อย่าง Antarctic Meseum และ Maritime Meseum ที่มีจุดชมวิวที่ชั้น 63 ที่เป็นจุดฮอตฮิตที่นักท่องเที่ยวทั้งหลายนิยมขึ้นไป

อีกสิ่งที่น่าสนใจของท่าเรือนาโกย่า คือ การจัดแสดงเรือตัดน้ำแข็งฟูจิ (Fuji Icebreaker) ที่ใช้สำรวจมหาสมุทรแอนตาร์กติกในปี 1960-1980 ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่เป็นพิพิธภัณฑ์แอนตาร์กติก และสะพานด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นอาคารนาโกย่าพอร์ต ที่ตั้งของหอชมวิวสูง 53 เมตร และพิพิธภัณฑ์ทางทะเลในนาโกย่า (Nagoya Maritime Museum)

นอกจากนี้ ยังมีรถไฟริมทะเล สวนสนุกที่มีชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคชุบุตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

ปักหมุดจุดสี่
คือ พิพิธภัณฑ์นักธุรกิจโอซาก้า

คืนสุดท้ายกับประเทศญี่ปุ่น คณะ กนอ.เดินทางต่อไปยังเมืองโอซาก้า แม้จะใช้เวลาหลายชั่วโมงแต่ก็เพลิดเพลินเช่นกัน เพราะได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นักธุรกิจโอซาก้า จุดเช็กอินสุดท้ายที่ยังคงได้ความรู้เข้าใจในบริบทอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น

พิพิธภัณฑ์นักธุรกิจโอซาก้า จัดแสดงแนะนำความสำเร็จของนักธุรกิจ 105 คน ที่มีบทบาทสำคัญในโอซาก้า พร้อมทั้งของที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น

ตั้งอยู่บริเวณชั้นใต้ดิน B1 ของ Osaka Urban Industry Promotion Center ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางสำคัญด้านธุรกิจและการค้าของโอซาก้า

ส่วนจัดแสดงแบ่งเป็น 3 ยุคสมัย มียุคต้นกำเนิดของโอซาก้าเมืองธุรกิจในปัจจุบัน สร้างรากฐานของอุตสาหกรรม ยุคการเริ่มรูปลักษณ์ของสังคมหมู่ เปิดฉากสังคมทุนนิยม และยุคการเริ่มต้นของยุคที่หลากหลาย จากการฟื้นตัวถึงความรุ่งโรจน์

แต่ละจุดจะมีรูป สิ่งของ ที่เกี่ยวกับนักลงทุนผู้ที่มีบทบาทในแต่ละสมัย ให้ความรู้สึกเหมือนได้พบเจอตัวจริงมาบอกเล่าประสบการณ์การทำธุรกิจเลยทีเดียว

น่าเสียดาย ที่นี่ห้ามถ่ายรูป จึงทำได้แค่ถ่ายทอดต้นกำเนิดสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมของโลก ผ่านตัวอักษรเท่านั้น!!

ปิยะวรรณ ผลเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image