‘แอชตันอโศก’ เคว้ง ยังหาที่ดินไม่ได้ ‘โยธา’ ชี้ยากแก้กม.เพื่อโครงการเดียว

‘แอชตันอโศก’ เคว้ง ยังหาที่ดินไม่ได้ ‘โยธา’ ชี้ยากแก้กม.เพื่อโครงการเดียว

ยังคงเป็นที่สนใจ สุดท้ายแล้วโครงการ “แอชตัน อโศก” ทางบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) และผู้ร่วมทุนจากญี่ปุ่น “มิตซุย ฟูโดซัง” จะผ่าทางตัน คอนโดมิเนียม มูลค่า 6,481 ล้านบาทอย่างไร เพื่อฝ่าวิกฤตใหญ่ในครั้งนี้

ถึงแม้ว่าจะเป็นที่แน่ชัดคอนโดมิเนียมหรูสูงระฟ้า 51 ชั้น ย่านทำเลทองฝั่งเพชร ยังไม่ถึงขั้น “ทุบทิ้ง”

หลังกรุงเทพมหานคร(กทม.) ให้เวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน แก้ไขปรับเปลี่ยนอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 41 ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566

Advertisement

แต่ยังไม่ทำให้ลูกบ้าน 580 ครอบครัวสบายใจ เพราะแม้จะยังใช้ชีวิตอยู่ได้ในคอนโดมิเนียม แต่เป็นดำรงชีวิตบนความไม่แน่ไม่นอน

”ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขกรณียื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ในเร็วๆนี้

“บริษัทกำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขและจะแจ้งให้ลูกบ้านทราบในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ตามที่ขอเวลาไว้ 14 วันทำการ นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา เรากำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไข ซึ่งมีอยู่หลายแนวทางที่มีความเป็นไปได้” ประเสริฐกล่าวย้ำ

Advertisement

พร้อมระบุมี 5 แนวทาง 1.ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อหรือหาที่ดินเพิ่มเติม 2.เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน สำนักการโยธากทม.ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี 3.เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านรฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม ไปยังคณะรัฐมนตรี

4.ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิ์ที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิ์ทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้ และ5.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป

จาก 5 แนวทางที่ “อนันดา” เปิดออกมาแหล่งข่าวจากกทม.ชี้ชัดเป็นไปได้มากที่สุดคือแนวทางแรกหาซื้อที่ดินทำทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรเชื่อมถนนสาธารณะมีเขตทางกว้าง 18 เมตร
มีตึกแถวด้านหลังของโครงการออกซอยสุขุมวิท 19 หรือที่ดินด้านข้างของสมาคมนามธารีติดกับเทอร์นอล21 หรือด้านสยามสมาคม เพื่อออกถนนอโศกมนตรี

“ปัญหาคือเจ้าของที่ดินจะขายให้หรือไม่ อย่างสมาคมนามธารีทราบว่าเจ้าของที่ดินรวยมาก ส่วนสยามสมาคมมีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ ไม่ว่าอย่างไรทางอนันดาก็ต้องหาพื้นที่ให้ได้ ถ้าไม่ได้ ก็ยื่นขอใบอนุญาตใหม่ไม่ได้ มีแนวโน้มจะยืดเยื้อเป็นปี เพราะคงขยายเวลาแก้ไขออกไปเรื่อยๆ” แหล่งข่าววิเคราะห์

แหล่งข่าวยังวิเคราะห์ต่อไปว่า เนื่องจากการให้หน่วยงานแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่33 ไม่ให้มีทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรคงจะลำบาก ถ้าหากต้องแก้ให้เฉพาะโครงการแอชตันโครงการเดียว ขณะที่ที่ดินรฟม.ศาลก็มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่าไม่ใช่ทางสาธารณะ ส่วนจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปนั้นคงยากเพราะศาลมีการสืบพยานหลักฐานไปหมดแล้ว

ด้าน “พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ย้ำชัดเช่นกันการที่บริษัทเสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน สำนักการโยธากทม.มายังกรม กระทรวงมหาดไทยไปยังครม.นั้น คงเป็นไปได้ยากถ้าจะให้แก้กฎหมายเพื่อโครงการเดียว กรมคงทำไม่ได้ เข้าใจว่าคงเป็นการเรียกร้องของบริษัทต่อกทม.เพื่อร่วมกันแก้ปัญหามากกว่า

“กรมมองว่าข้อกฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎกระทรวงต่างๆ มีความชัดเจนอยู่แล้ว และมีแนวทางการปฎิบัติที่รัดกุมอยู่แล้วว่าอาคารขนาดใหญ่มีทางเข้าออกอย่างไร เพื่อให้มีความปลอดภัย ซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่เรื่องแอชตัน อโศก เป็นประเด็นที่บริษัทนำเอกสารทางเข้าออกที่นำมาแนบขออนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นทางเข้าออกสาธารณะหรือทางเข้าถาวรหรือไม่ เป็นเรื่องที่กทม.ต้องพิจารณาเอง เพราะเป็นรายละเอียดของการอนุญาต”นายพงศ์รัตน์กล่าว

นายพงศ์รัตน์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนให้กรมดำเนินการตรวจสอบข้อกฎหมายควบคุมอาคารเพิ่มเติม ทั้งนี้เมื่อปี 2558 ทางอนันดามีหนังสือหารือมาในข้อกฎหมายว่าถ้าหากมีทางเข้าออกที่ติดกับทางสาธารณะหน้ากว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรตามกฎหมายจะสามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษได้หรือไม่ ซึ่งกรมได้ตอบไปตามข้อกฎหมายว่าถ้ามีก็ทำได้ แต่ทางเข้าออกนั้นต้องไม่มีติดเงื่อนไขใดๆ ตราบเท่าที่มีอาคารนั้นตั้งอยู่

“กรมไม่ได้ตอบรายละเอียดทางเข้าออกที่ขอใช้ของรฟม. เป็นแค่คำถามมาว่าจะอนุญาตได้ไหมถ้าเกิดมีที่ดินอีกแปลงเพิ่มแค่นั้นเอง เราก็ไม่ได้ตอบว่าได้หรือไม่ได้ เราแค่เป็นการทวนข้อกฎหมายไปให้รับทราบว่าที่ดินที่เขาหามาจะทำเป็นทางเข้าออกจะต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ เท่าที่ดูเนื้อหาที่ตอบในเวลานั้นเราไม่ได้แตะเรื่องทางเข้าออก 12 เมตรว่าเป็นที่ดินของใครเลย”นายนายพงศ์รัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image