‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ เบรกรัฐบาลใหม่ทำ ‘นโยบายประชานิยม’ หวั่นบั่นทอนเสถียรภาพการคลัง

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ เบรกรัฐบาลใหม่ทำ ‘นโยบายประชานิยม’ หวั่นบั่นทอนเสถียรภาพการคลัง

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมนาวิชาการประจำปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ หัวข้อก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทยว่า สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ธปท.ไม่ได้กังวลเรื่องงบประมาณล่าช้ามากนัก เนื่องจากในการทำประมาณการ ธปท.ได้รวมความเสี่ยงจากกรณีดังกล่าวไว้แล้วโดยคาดว่าจะล่าช้าประมาณ 2 ไตรมาส

ขณะที่การเบิกจ่ายงบประจำยังออกได้ตามปกติ และงบลงทุนไม่ได้เยอะ จนทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเศรษฐกิจจะเติบโตที่ระดับ 3% กว่าๆ นั้น ธปท.ได้รวมเอาปัจจัยความล่าช้าของงบประมาณเข้าไปในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความเสี่ยงคือ นโยบายของรัฐบาลใหม่ โดย ธปท. ไม่อยากเห็นนโยบายในลักษณะประชานิยมมากเกินไป เพราะจะไปกระทบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

“สิ่งที่เรากังวลมากกว่าการจัดตั้งรัฐบาลช้าคือ นโยบายของรัฐบาลใหม่ ตอนนี้ทั่วโลกกำลังให้น้ำหนักกับนโยบายที่เน้นการรักษาเสถียรภาพ นโยบายที่ไปบั่นทอนเสถียรภาพอย่างแรงก็จะสร้างความเสี่ยงเยอะ ขนาดประเทศใหญ่อย่างสหรัฐได้โดนลดเกรดลงจาก AAA ลงมา 1 อันดับ ซึ่งมาจากสหรัฐจัดการด้านการคลังได้อย่างไม่ค่อยมีเสถียรภาพ และหากไทยทำนโยบายที่บั่นทอนเสถียรภาพก็จะได้รับผลกระทบมาก เราไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลแต่ที่สำคัญคือ ธปท. ไม่อยากเห็นนโยบายประชานิยมมากเกินไป” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

Advertisement

ส่งซิก กนง. อาจคง-ขึ้นดอกเบี้ย
นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับมุมมองนโยบายการเงินในปี 2566 โจทย์การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากแบบค่อยเป็นค่อยไปมาสู่การลงจอดอย่างมีเสถียรภาพ เนื่องจากบริบทของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปจากปีที่แล้วที่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อสูงแต่ปีนี้ปัญหาต่างๆ ทยอยคลี่คลาย ขณะที่เงินเฟ้อลดลงได้เร็วกว่าที่ ธปท.คาดการณ์

นอกจากนี้ การพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยในปัจจุบันจะพิจารณาจากปัจจัยระยะสั้นไม่ได้ แต่ต้องดูปัจจัยระยะยาวประกอบด้วย โดยมีทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องฟื้นตัวในระดับศักยภาพได้ในระยะยาว โดยการเติบโตของจีดีพีควรอยู่ที่ 3-4% 2.เงินเฟ้อควรอยู่ในกรอบ 1-3% อย่างยั่งยืน 3.ดอกเบี้ยไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้างต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อาจมาจากดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน

“ตอนนี้บริบทเศรษฐกิจเปลี่ยนนโยบายการเงินต้องเปลี่ยนจาก smooth take-off มาเป็นการ Landing แล้ว จะเห็นได้จากรายงานการประชุม กนง. ตอนนี้เราได้ถอดคำว่าขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปออกไปแล้วแสดงว่าตอนนี้อยู่ใกล้จุดที่จะต้องเปลี่ยน ซึ่งการเปลี่ยนคือครั้งหน้า กนง.มีโอกาสที่จะคงหรือขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่มีการลดดอกเบี้ยแน่นอน” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

Advertisement

ยันดูแลกลุ่มเปราะบาง
นายเศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า ธปท.เข้าใจดีว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะสร้างปัญหาให้ครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนเปราะบาง แต่ ธปท.ได้จัดทำมาตรการมารองรับ และดูแลกลุ่มที่เปราะบางที่จะถูกกระทบจากดอกเบี้ยเป็นพิเศษ ซึ่งทำมาโดยตลอดมาตั้งแต่ช่วงโควิด และล่าสุดได้ออกมาตรการดูแลเรื่องหนี้ 3 เรื่อง คือ เรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง เรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing) และเรื่องการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio)

“เราเข้าใจดีว่าการขึ้นดอกเบี้ย มันมีผลข้างเคียง และสร้างภาระให้กับคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่มันจำเป็น มันจำเป็นในภาพรวม ดังนั้น เราก็ต้องมีมาตรการมารองรับกับผลข้างเคียง และดูแลพวกนี้” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ทั้งนี้ แนวโน้มหนี้เสีย (NPLs) แม้ว่าหนี้เสียจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่คงไม่เป็นหน้าผาเอ็นพีแอล (NPLs cliff) หรือเกิดหนี้เสียก้อนมหาศาล จนกระทบต่อเสถียรภาพแน่นอน ขณะที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับหนี้ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Special Mention :SM) ที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่สินเชื่อ SM ทั้งหมดที่จะกลายเป็นหนี้เสีย เช่น สินเชื่อบ้านที่เป็น SM จะมีเพียง 22% เท่านั้นที่เป็นหนี้เสีย แต่ที่กลับไปเป็นหนี้ปกติจะมี 30% เป็นต้น

คาดเศรษฐกิจไทยโต 3% กลางๆ
นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตที่ 3.6% อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกประกอบกับการส่งออกที่ชะลอตัวลง ธปท. จึงอาจปรับประมาณการลงบ้าง แต่คาดว่าจะยังอยู่ประมาณ 3% กลางๆ ทั้งปีนี้ และปี 2567

ขณะที่เงินเฟ้อจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2566 เบื้องต้น ธปท.คาดว่ามีแนวโน้มน่าจะออกมาต่ำหน่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไม่ไปต่อเนื่อง

“ถึงแม้ว่าตัวเลขต่างๆ ของเศรษฐกิจไทยจะออกมาดูต่ำกว่าที่คาดแต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ฟื้นตัว โดยจะมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปีนี้น่าจะเห็นตัวเลขที่โตเกิน 4% ซึ่งถือเป็นระดับค่อนข้างสูง และการท่องเที่ยว จะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยว 29 ล้านคน ภาพนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เทียบกับปีที่แล้วที่มา 11 ล้านคน จาก 11 ล้านคน มา 29 ล้านคน ส่วนปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีมาจากการส่งออกที่ชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าภาคท่องเที่ยวจะเติบโตดีขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น (ฤดูท่องเที่ยว) ขณะที่การบริโภคภายในประเทศคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาเรื่องการส่งออกเนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตได้ไม่ดี ขณะที่วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ของโลกและภาคการผลิตค่อนข้างฟื้นตัวได้ช้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image