นายก ส.ภัตตาคาร ปูดหมดโปรมาตรการรัฐ ‘พักหนี้พักดอก’ ธุรกิจเข้าขั้นลำบาก วุ่นหาเงินโปะหนี้

นายก ส.ภัตตาคาร ปูดหมดโปรมาตรการรัฐ ‘พักหนี้พักดอก’ ธุรกิจเข้าขั้นลำบาก วุ่นหาเงินโปะหนี้

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ วันแม่ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม จะเป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่มีลูกค้าและสร้างรายได้สูงวันหนึ่งในรอบปี เชื่อว่าปีนี้บรรยากาศพาครอบครัวออกมาทานข้าวนอกบ้าน หรือการสั่งอาหารไปทานในบ้านจะคึกคักกว่าปีก่อนที่กลับมาคึกคักในรอบ 3 ปี หลังจากความวิตกต่อเชื้อโควิดลดลงและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยิ่งในปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่องเสาร์ที่ 12 ถึงจันทร์ที่ 14 สิงหาคม จะได้ความคึกคักจากการพาครอบครัวออกเดินทางเที่ยวไหว้พระหรือพักผ่อนค้าง 1-2 คืนในจังหวัดที่เดินทางระยะใกล้ๆ จากนั้นก็ต้องลุ้นต่อครึ่งเดือนหลังของสิงหาคมนี้จะกลับมาซบเซาอีกครั้ง จนถึงเดือนกันยายน ที่เป็นความหวังอีกครั้งของธุรกิจร้านอาหารและห้องจัดเลี้ยงตามโรงแรม กับการจองเลี้ยงส่งกลุ่มเกษียณการทำงาน โดยเฉพาะข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนนี้สร้างรายได้สะพัดไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท

“บรรยากาศเลี้ยงเกษียณในหลายหน่วยงานก็เริ่มเห็นกันแล้ว แต่เห็นสัญญาณประหยัดใช้จ่าย จากเดิมจองห้อง จองร้าน และเดินทางมาทาน กลายเป็นสั่งซื้อเดลิเวอรี่แทน และบางส่วนเริ่มกังวลกับราคาอาหารบางรายการสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ กังวลเรื่องการใช้งบบานปลายจึงปรับการเลี้ยงส่งในองค์กรแทน และเชื่อว่าการเลี้ยงเกษียณยังเป็นสิ่งที่ยังยึดปฏิบัติแต่ปรับตามสถานการณ์มากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องงบประมาณรัฐที่ยังล่าช้า และรอความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลที่มีผลต่อการตัดสินใจงบประมาณใหม่ๆ ด้วย แต่โดยภาพรวมธุรกิจร้านอาหารปีนี้น่าจะสะพัดได้ 5 แสนล้านบาท” นางฐนิวรรณระบุ

นางฐนิวรรณกล่าวถึงกรณีธนาคารเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อและปัญหาหนี้สินไทยยังทรงตัวสูงนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากช่วงนี้เป็นช่วงสถาบันการเงินกำลังตามเก็บหนี้ ตามมาตรการรัฐที่เคยให้ผ่อนปรน หรือพักหนี้พักดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่ปี 2564-65 กำลังหมดลง ประกอบกับกำลังซื้อ หรือการค้าขายก็ยังไม่ฟื้นตัวเท่าเดิม อีกทั้งหนี้สะสมยังสูง ทำให้บางส่วนหาเงินชำระหนี้เดิมเต็มจำนวนไม่ได้หมด เมื่อหนี้เก่ายังมีการอนุมัติหนี้ใหม่ก็ถูกเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงหลังจากเปิดประเทศกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเหมือนปกติ ธุรกิจหน้าใหม่เริ่มลงทุนอีกครั้งและนิยมใช้เงินจากลีสซิ่งหรือบัตรเครดิตแทนการกู้ยืมไม่ได้ จึงทำให้เกิดภาระหนี้สูง เมื่อถึงเวลาใช้หนี้ รายได้ใหม่ไม่สอดรับ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้กู้ 3 ล้านบาทต้องเร่งคืนในช่วงนี้ ถือว่าเป็นภาวะที่ลำบากของผู้ประกอบการ

Advertisement

“ที่กังวลคือจะหันไปหาเงินนอกระบบธนาคาร แม้ดอกเบี้ยจะสูงกว่า แต่เข้าถึงได้ง่าย และมักเป็นสินเชื่อรายบุคคล สะสมนานๆ จะก่อปัญหาในระยะต่อไป อีกเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาดูแลและคงต้องดูว่ามาตรการรัฐบาลใหม่ยังจะคงการพักหนี้ลดดอกเบี้ยอีกหรือไม่ รวมถึงการปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไปแล้ว อีกเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ อาหารสด เครื่องปรุง ค่าแรงงาน ค่าเช่า ยังอยู่ในระดับที่สูงจะเข้ามาช่วยอย่างไร เรื่องสุดท้ายที่สมาคมเตรียมเข้าหารือรัฐบาลใหม่ทันทีคือการฟื้นร้านอาหารต้นทุนต่ำ ขายราคาไม่เกิน 35 บาท กับการสร้างอาชีพใหม่ให้คนตกงาน ผู้ไม่มีรายได้ หรือต้องการรายได้เสริมเพื่อลดภาระหนี้ครัวเรือน โดยก่อนหน้านี้เคยทำโครงการร้านข้าวแกงกำลังใจ ราคา 25-35 บาท ที่มีคนเข้าร่วม 100 ราย ตอนนี้เหลือ 10 ราย เพราะครัวกลางแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว” นางฐนิวรรณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image