เช็กความพร้อม ‘SAT-1’ อัพเกรด ‘สุวรรณภูมิ’

เช็กความพร้อม ‘SAT-1’ อัพเกรด ‘สุวรรณภูมิ’

อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) หนึ่งในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงินลงทุนกว่า 39,760 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จากปัจจุบัน 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ช่วยบรรเทาความแออัดของผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

SAT-1 เตรียมเปิดให้บริการแบบไม่เป็นทางการหรือ Soft Opening ถือฤกษ์วันที่ 28 กันยายน ก่อนเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในต้นปี 2567

กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้รายละเอียดว่า ทอท.พร้อมเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ในรูปแบบทดลองการให้บริการเสมือนจริงวันที่ 28 กันยายน หลังจากนี้ ทอท.จะเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจผู้โดยสารถึงขั้นตอน และวิธีการเชื่อมต่อการเดินทางจากอาคารผู้โดยสารหลักไปยังอาคาร SAT-1 ด้วยระบบรถไฟฟ้าไร้คนขับ APM

“เมื่อ SAT-1 เปิดให้บริการเต็มรูปแบบจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ใช้บริการ ประชาชน และอุตสาหกรรมการบิน และเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งสู่การเป็นสนามบินชั้นนำระดับโลก” ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เกริ่นนำ

สำหรับรายละเอียดภายในตัวอาคาร SAT-1 มีพื้นที่ใช้สอยรวม 216,000 ตารางเมตร ตัวอาคารมีความสูง 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น G เป็นพื้นที่สำหรับระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ และพื้นที่สำนักงาน ชั้น 2 เป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้า และพื้นที่สำหรับผู้โดยสารเชื่อมต่อเที่ยวบิน

ADVERTISMENT

ชั้น 3 เป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก มีพื้นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสารรอขึ้นเครื่อง เป็นแบบ Open Gate และมีร้านค้าตลอดแนวทางเดิน และชั้น 4 เป็นพื้นที่สำหรับห้องรับรองสายการบิน นอกจากนี้ มีชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 เป็นพื้นที่สำหรับสถานีขนส่งระบบ APM และชั้น B1 เป็นพื้นที่ห้องงานระบบ

ทั้งนี้ ทาง ทอท.ได้ออกแบบอาคารที่ผสมผสานความทันสมัย และมีเอกลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทยมาติดตั้ง และสอดแทรกในบริเวณต่างๆ ของอาคาร มีความสวยงาม ประณีต สะท้อนมรดกวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวไทยในแต่ละภูมิภาค พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

การออกแบบอาคารหลังนี้ คำนึงถึงการใช้งานของทุกเพศทุกวันอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) อาทิ ห้องนั่งสมาธิ ห้องละหมาด ที่แยกระหว่างหญิง-ชาย ห้องแม่และเด็ก (Babycare Room) รวมทั้งมีห้องและพื้นที่สำหรับเด็กเล่น เก้าอี้พักคอยซึ่งติดตั้งที่ชาร์จ พร้อมอุปกรณ์เสริมเต้ารับไฟฟ้าช่องเสียบ USB แบบ Universal เป็นต้น

สำหรับงานสถาปัตยกรรมภายในอาคาร SAT-1 มีการออกแบบให้สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสารหลัก หรือ Main Terminal โดยผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรม ศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย โดยมีผลงานการตกแต่งชิ้นเอกเป็นช้างคชสาร ตั้งอยู่บริเวณโถงกลางของชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก

ส่วนปลายอาคารทั้ง 2 ด้าน คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตกติดตั้งสุวรรณบุษบก และรัตนบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัย และปางเปิดโลก โดยถอดแบบมาจากวัดผาซ่อนแก้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อสถานที่ เป็นขวัญและกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้เดินทาง

นอกจากนี้ บริเวณชั้น 3 ของอาคาร ยังได้รับการออกแบบให้เป็นสวน ตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อไทยแต่โบราณ อาทิ กินนร กินรี เหมราช และหงส์สา ส่วนชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ได้ออกแบบเป็นสวนสัญจรผ่าน จัดแสดงงานภูมิทัศน์ผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมของไทย อาทิ หุ่นละครเล็ก หนังใหญ่ หัวโขน และว่าวไทย เป็นต้น

ส่วนห้องน้ำภายในอาคารก็มีความโดดเด่นด้วยการนำเอกลักษณ์หรือลักษณะเด่นทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมของไทยมาใช้ออกแบบรูปลักษณ์ภายใน ขณะที่สุขภัณฑ์ทั้งหมดได้ใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยในการประหยัดน้ำ

ผอ.กีรติแจกแจงเพิ่มอีกว่า สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคาร SAT-1 จะมีทั้งร้านอาหาร ห้องรับรองของ และร้านค้าต่างๆ นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม และตกแต่งให้สมบูรณ์ โดยจะแล้วเสร็จทัน และพร้อมให้บริการในวันเปิดให้บริการอาคาร SAT-1

ทั้งนี้ อาคาร SAT-1 มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) สูง 4 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 รถไฟฟ้า APM ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้า ร้านอาหาร มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) 28 หลุมจอดอากาศยาน

ส่วนระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) เป็นรถไฟฟ้าระบบล้อยางแบบไร้คนขับ ที่ใช้รับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างตัวอาคารผู้โดยสารหลักกับอาคาร SAT-1 ปัจจุบันมีความพร้อมในการให้บริการแล้ว โดยจะเปิดให้บริการแบบ Soft opening ปลายเดือนกันยายนนี้ ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี 2567 จะช่วยรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี

สำหรับทางวิ่งหรือรันเวย์เส้นที่ 3 ก่อสร้างแล้วกว่า 73% คาดจะเสร็จเดือนกันยายน 2566 เปิดใช้งานเดือนกรกฎาคม 2567 ช่วยรองรับการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากปัจจุบัน 68 เที่ยวบิน

ผอ.กีรติให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเปิดใช้งานอาคาร SAT-1 การก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 และโครงการอื่นๆ นอกจากเป็นการวางพื้นฐานที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวประเทศแล้ว ยังรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต ทำให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถรองรับนักเดินทางจากทั่วโลก และสร้างความประทับใจแก่ผู้เดินทาง

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด โดย ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท วิทยุการบินฯ เสริมว่า วิทยุการบินฯได้ดำเนินการปรับปรุงฐานข้อมูลระบบบริหารจราจรทางอากาศ (Data Set) ให้สามารถรองรับข้อมูลอาคาร ทางขับ และทางวิ่งเส้นที่ 3 เนื่องจากการก่อสร้างดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสนามบินในการแสดงผลของระบบบริหารจราจรทางอากาศ วิทยุการบินฯจึงวางแผนปรับปรุงฐานข้อมูลเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปรับปรุง Data Set เพื่อรองรับอาคาร SAT-1 โดยกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2566 และระยะที่ 2 ปรับปรุง Data Set เพื่อรองรับทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะดำเนินการให้ทันการเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ภายในเดือนกันยายน 2567

“นอกจากนี้ วิทยุการบินฯได้ดำเนินการติดตั้งระบบ CCTV แบบ panorama ไว้ 2 จุดณ อาคาร SAT-1 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศสามารถมองเห็นภาพเครื่องบินที่ผ่านจาก Taxiway เพื่อความปลอดภัย สามารถอำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท วิทยุการบิน สรุป

เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานของประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางในการขนส่งทางอากาศหรือฮับ ของภูมิภาคในอนาคต