รฟม.ชี้ อนันดาขอแลกที่ดินสมาคมซิกข์เปิดทางเข้าออก แอชตันอโศก ไม่น่าจะได้ ด้าน กทม.ระบุยาก คงอีกนาน
ผู้ว่าฯรฟม.ชี้ ‘อนันดา’ แลกที่ดินกับสมาคมซิกข์ เปิดทางเข้าออก ‘แอชตันอโศก’ อาจจะไม่ได้ รอบริษัทเสนอแนวทางแก้ปัญหาเป็นทางการ กทม.คาดสลับใช้ทางเข้าออกเดิม และเจรจาที่ดินสมาคมเพิ่ม ให้ได้ 12 เมตร เผยไม่ง่าย
หลังศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน อโศก ซอยสุขุมวิท 21 ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับมิตซุย ฟูโดซัง มูลค่า 6,481 ล้านบาท เนื่องจากที่ดินใช้ก่อสร้างอาคารโครงการ ไม่เป็นไปตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนด เพราะไม่มีเขตที่ดินด้านหนึ่งด้านใดที่เป็นทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรยาวต่อเนื่องกัน และใบอนุญาตการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นทางเข้าออกสาธารณะได้ขัดต่อวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนที่ดิน
ต่อมามีรายงานข่าวว่า ผู้บริหารอนันดาได้เข้าไปเจรจากับสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย (สมาคมซิกข์) เพื่อขอแลกที่ดินบางส่วนกับ รฟม. ซึ่งเป็นที่ดินทางออกเดิม ทำเป็นทางเข้าออกของโครงการด้านถนนอโศกมนตรี นอกเหนือจากจะพิจารณาซื้อตึกแถวในซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 แล้ว
ขณะที่ผู้แทนสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทยระบุว่า อนันดาได้เข้ามาพูดคุยกับสมาคมจริง เพื่อช่วยกันหาทางออกให้กับลูกบ้านร่วม 600 ครัวเรือน โดยขณะนี้ยังเป็นแค่การรับฟัง ยังไม่มีข้อสรุป โดยอนันดาต้องทำข้อเสนอมาให้สมาคมพิจารณาก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับอนันดาจะตัดสินใจอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างมีต้นทุน ขณะที่การตัดสินใจจะให้หรือไม่นั้นอยู่ที่สมาชิกสมาคม ไม่ใช่คณะกรรมการสมาคมแต่อย่างใด
“ทั้งนี้ หากสมาคมตกลงให้พื้นที่อนันดา ไม่ได้เป็นการช่วยบริษัท แต่เป็นการช่วยประชาชนที่อยู่ในโครงการได้รับความเดือดร้อนมากกว่า ซึ่งกรณีของแอชตันอโศก มีหลายองค์ประกอบ ต้องหาทางออกแบบบูรณาการจากทุกฝ่ายร่วมกัน” ผู้แทนสมาคมนามธารีกล่าว
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า การที่จะนำที่ดิน รฟม.ไปแลกกับที่ดินสมาคมนามธารีไม่น่าจะดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ทางอนันดายังไม่ได้ติดต่อขอหารือกับ รฟม. และต้องรอให้อนันดานำข้อเสนอต่างๆ มาหารือเป็นทางการก่อน
แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางที่อนันดาเสนอใช้ที่ดินสมาคมนามธารีนั้น คาดว่าจะเป็นการย้ายทางเข้าออกปัจจุบันที่ศาลตัดสินว่าใช่ไม่ได้ กลับไปยังที่เดิมที่เจ้าของที่ดินเดิมเคยได้สิทธิจาก รฟม. ซึ่งเป็นทางภาระจำยอมกว้าง 6.4 เมตร อยู่ติดกับสมาคมนามธารี และคงเจรจาขอใช้พื้นที่สมาคมเพิ่มเพื่อให้ได้ความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร โดยจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมสลักไว้ด้านหลังโฉนด คงไม่มีการซื้อขาดเพราะสมาคมคงไม่ขาย ส่วนการเช่าก็คงไม่ได้ เพราะจะมีเงื่อนเวลากำหนดไว้
“อนันดาคงต้องมีค่าตอบแทนให้กับสมาคม และคงเป็นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะก่อนหน้านี้อนันดาเคยเจรจากับสมาคมนามธารีฯแล้ว แต่สมาคมไม่ให้ รวมถึงต้องเจรจากับ รฟม.ว่าจะให้กลับไปใช้พื้นที่เดิมได้หรือไม่ ในเมื่อศาลได้ตัดสินไปแล้วว่าผิดวัตถุประสงค์การเวนคืนที่ดิน และคงจะไม่ง่าย คงใช้เวลาเป็นปี กว่าจะได้ใบอนุญาตใหม่” แหล่งข่าวกล่าว
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. กล่าวว่า กทม.ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบ ปรับปรุงแนวทางการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษแล้ว โดยมีนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม.เป็นประธานคณะกรรมการ และมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมด้วย เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อมหาชนเหมือนกับแอชตัน อโศก