CFR แพลตฟอร์มไฮเทค สกัดโจรออนไลน์
ปัจจุบัน ภัยออนไลน์ เป็นเรื่องอันตรายที่อยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับการใช้ชีวิต กลับกันเทคโนโลยีก็นำมาสู่ภัยร้าย หากมีคนกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดี หรือเรียกว่า มิจฉาชีพ นำมาใช้เป็นเครื่องมือแสวงหากำไรในทางมิชอบ
ความเสียหายขยายตัวเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากข้อมูลสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2566
พบว่า สถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 108,383 ครั้ง 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 38,669 ครั้ง 3.หลอกให้กู้เงิน 35,121 ครั้ง 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 23,545 ครั้ง และ 5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (คอลเซ็นเตอร์) 21,482 ครั้ง
รูปแบบคดีออนไลน์ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด คือ การหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 11,500 ล้านบาท!
เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ได้มีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้น ผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิด
กระทรวงดีอีเอสได้ประกาศใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้วันที่ 17 มีนาคม 2566
ขณะเดียวกัน ได้หารือกับสถาบันการเงินและตำรวจ และได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการให้ความเห็นชอบระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ขึ้น
เป็นการดำเนินการระหว่างกระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เพื่อกำหนดระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามที่กำหนดในมาตรา 4 ของพระราชกำหนด
มาตรา 4 ของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องในระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจนั้น ผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ ธปท. เห็นชอบร่วมกัน
เนื่องจากการลงนามความร่วมมือกับทุกหน่วยงานดังกล่าว ทำไปเพื่อการยืนยันว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาพใต้กรอบของกฎหมาย จะมีการดูแลข้อมูล เพื่อไม่ทำให้เกิดข้อมูลรั่วไหล ซึ่งจะดูแลโดยกระทรวงดีอีเอส
ขณะเดียวกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลต้องมีความสามารถที่จะทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้เร็วขึ้น
รวมถึงสถาบันการเงิน สามารถแจ้งผ่านกลไกของตนเองได้ในรูปแบบอัตโนมัติ เร็วขึ้น และมากขึ้น
ถ้าแพลตฟอร์มนี้ทำงานได้ถึงจุดจุดหนึ่ง เชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีของระบบเอไอตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินระหว่างธนาคาร น่าจะเริ่มเห็นความผิดปกติในระบบมากขึ้น โดยพระราชกำหนดดังกล่าวเริ่มมีการใช้ไปบ้างแล้ว และสามารถตกลงกันในเรื่องความร่วมมือของ 5 หน่วยงาน โดยมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยป้องกันปราบปรามแก้ไขปัญหาการถูกหลอกลวงของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นก้าวสำคัญ และเป็นฐานที่เกิดการป้องกันเหตุ ก่อนเกิดการโอนเงินให้มิจฉาชีพ วิศิษฏ์กล่าว
ทั้งนี้ สถาบันการเงินได้พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เซ็นทรัล ฟรอด รีจิสตี้ (ซีเอฟอาร์) หรือ Central Fraud Registry (CFR) และจะมีการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในระยะถัดไป
สำหรับข้อตกลงในการดำเนินการ ได้เห็นชอบร่วมกันในการใช้ระบบ Central Fraud Registry (CFR) พัฒนาโดย บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด (NITMX) เป็นระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องในระหว่างสถาบันการเงิน ตามมาตรา 4 วรรคหนึ่งของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 โดยระบบดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ระยะในเบื้องต้น
เฟส (Phase) 1 จะรองรับกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องในระหว่างสถาบันการเงินผ่านช่องทาง Shared Drive เพื่อให้สถาบันการเงินปลายทางรับข้อมูลไปตรวจสอบและระงับธุรกรรมเป็นทอดๆ ต่อไป ซึ่งเป็นระบบที่รองรับกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลชั่วคราวระหว่างการพัฒนาและประกาศใช้งานระบบ CFR เฟส 1.1
รวมถึงเป็นระบบที่รองรับกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลสำรองที่สามารถใช้ในกรณีระบบ CFR เฟส 1.1 ขัดข้องไม่สามารถใช้งานได้
ส่วนเฟส 1.1 รองรับกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องในระหว่างสถาบันการเงินผ่านช่องทาง Web Portal โดยระบบจะแจ้งเตือนไปยังสถาบันการเงินปลายทางได้โดยอัตโนมัติ และสามารถรวบรวมข้อมูล เพื่อสร้างรายงานเส้นทางการเงินได้ ซึ่งทั้ง 5 หน่วยงานจะร่วมกันติดตามความคืบหน้าของผู้พัฒนาระบบ CFR เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบในระยะต่อๆ ไป ให้มีความสมบูรณ์และสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566
นอกจากนี้ ตามพระราชกำหนดดังกล่าว ได้กำหนดบทลงโทษ แบ่งเป็น 2 กรณี
1.สำหรับบุคคลที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า โดยให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และ 2.ในส่วนผู้เป็นธุระจัดหาบัญชีม้าโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากตรวจพบว่ามีการเดินบัญชีม้าแล้วจะต้องถูกจับกุมทุกกรณี คาดว่าจะสามารถลดปัญหาการรับจ้างเปิดบัญชีม้าให้น้อยลงได้
หลังจากที่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้การแจ้งความคดีออนไลน์จากประมาณ 800 รายการต่อวัน ลดลงเหลือประมาณ 600 รายการต่อวัน และสามารถอายัดเงินที่ถูกหลอกลวงได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า คิดเป็น 20%
สงครามกับเรื่องออนไลน์สแกมเมอร์ยังไม่จบ แต่มีไซน์ที่ดีขึ้น หากร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ผ่านความเห็นชอบจากการประชุมวุฒิสภาอีกครั้ง ในวันที่ 15 สิงหาคม จะยืนยันว่าสิ่งที่ทุกหน่วยงานดำเนินงานในเบื้องต้นจะผ่านไปด้วยดี
นอกจากนี้ การดูแลการโอนเงินประเภทอื่นๆ เช่น คริปโทเคอร์เรนซี ยังอยู่ระหว่างการศึกษา และมั่นใจว่าจะครอบคลุมทั้งหมด เพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชน ปลัดดีอีเอสกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่แวดวงการเงินอย่าง เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า พระราชกำหนดดังกล่าว ในส่วนการมอบอำนาจให้สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบบัญชีม้า หลังจากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงความตั้งใจในการดูแลของระบบสถาบันการเงิน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้เปลาะหนึ่ง
การพัฒนาระบบกลางที่จะมีการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ซึ่งส่วนนี้จะใช้เวลาในการดำเนินการในลักษณะใดก็ตามก็ต้องมีความรวดเร็ว เพื่อหยุดเส้นทางการเดินเงินของมิจฉาชีพได้ในทันที เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น หากประชาชนถูกหลอกลวงไปแล้วจะนำเงินกลับมาได้ยาก
จากข้อมูลสามารถตามเงินกลับมาได้เพียง 10% เท่านั้น
ถ้าระบบดังกล่าวมีการบังคับใช้ และมีระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ตรวจสอบประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่น่าจะช่วยประชาชนได้ชั้นหนึ่ง และลดความเสียหายได้มากขึ้น
ทุกกระบวนการต้องทำควบคู่ไปกับ การให้ความรู้ทุกด้านกับประชาชนให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ หรือให้รู้ถึงวิธีการใช้สื่อสังคมมีเดียให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ เกวลินกล่าวทิ้งท้าย
การผลักดันแพลตฟอร์ม เซ็นทรัล ฟรอด รีจิสตี้ จึงเป็นอีกมาตรการที่จะช่วยสกัดภัยออนไลน์