เอกชนยอมรับ ‘สู้ไม่ไหว’ สินค้าจีนทะลักตีตลาดไทยทุกทิศ เปรียบเหมือน “ภัยพิบัติ” หวังรัฐเร่งปกป้องบ้าน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีอุตสาหกรรม 20 กลุ่มสินค้าจากทั้งหมด 45 กลุ่ม ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทยเป็นจำนวนมากขึ้นจากเดิมมีเพียง 5-6 กลุ่มอุตสาหกรรมนั้น เบื้องต้นในส่วนของผู้ประกอบการต้องบอกว่าหาทางรับมือกับสถานการณ์หรือผลกระทบที่เกิดขึ้น เรียกว่าสู้ไม่ไหว เพราะเกิดขึ้นเร็วมาก เปรียบเทียบเหมือนภัยพิบัติ อาทิ น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า ทั้งที่ทุกคนเตรียมการณ์ไว้แต่ไม่ทัน สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาแบบพายุ ระยะสั้นไม่สามารถรับมือได้ จึงมีทางเดียวคือ ต้องปิดบ้านให้ดี ทำระบบป้องกันไม่ให้สินค้าจากต่างประเทศตีหน้าต่างหรือประตูเข้ามาได้ง่ายเหมือนในปัจจุบัน โดยภาครัฐจะต้องหามาตรการรับมือเพื่อควบคุมไม่ให้สินค้าจีนที่ต้นทุนต่ำกว่า ทะลักเข้ามาตีตลาดในไทย อาทิ การป้องกันทางค้าชายแดน โดยถือเป็นเรื่องที่มีซีเรียสสูงมากด้วย
“เมื่อการส่งออกในทั่วโลกไม่ดี ทำให้จีน ที่เป็นประเทศใหญ่ ถูกแทรกแซงจากสหรัฐด้วย ทำให้จีนที่เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลก สินค้าของจีนเมื่อไปในตลาดสหรัฐหรือยุโรปได้น้อยลง ก็ทะลักเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะอาเซียน จะเห็นว่ารวมการส่งออกในอาเซียนของไทยอยู่ประมาณ 25% ตอนนี้สินค้าจีนเข้าไปส่งออกในอาเซียนมากขึัน แข่งขันกับสินค้าส่งออกไทย เพราะจีนต้นทุนต่ำกว่า ทำให้การส่งออกไปอาเซียนของไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการทะลักออกไปแข่งขันนอกประเทศยังไม่เท่าไหร่ แต่การทะลักเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศ มีผลกระทบทำให้กำลังซื้อตลาดในประเทศที่อ่อนแออยู่แล้ว กระทบกับเอสเอ็มอีสูงมาก โดยเฉพาะตอนนี้ที่การขนส่งเข้ามาได้ง่ายมาก อาทิ สั่งออนไลน์แบบ 1-2 ชิ้น ก็เข้ามาส่งได้อย่างสะดวกแล้ว” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ความห่วงใยในด้านหากมีการเอาจริงเอาจังกับการสกัดสินค้าจากจีน ที่ถือเป็นคู่ค้าหลักของไทยจะส่งผลกระทบต่อข้อตกลงทางการค้า (เอฟทีเอ) หรือไม่ อันนี้มองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจังของภาครัฐในการดำเนินการมากกว่า ส่วนจะส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่มีความเปราะบางแง่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์หรือไม่นั้น ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ต้องทำงานเพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจ และอธิบายให้คู่ค้ารับรู้ถึงความจำเป็นที่เกิดขึ้น เพราะทุกประเทศก็มีหน้าที่จะต้องปกป้องคนในประเทศนั้นๆ รวมถึงรักษาผลประโยชน์ของประเทศของตัวเองเป็นหลักอยู่แล้ว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า เปรียบเทียบกับอินเดีย ที่ไม่เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ซึ่งถือเป็นทั้งความเคี่ยวและชาญฉลาด เนื่องจากรัฐบาลอินเดียประเมินแนวโน้มไว้แล้วว่า หากเปิดเศรษฐกินร่วมด้วยจะเสียเปรียบ เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของอินเดียยังไม่ได้เข้มแข็งมากเท่าที่ควร หากเปิดแล้วจะถูกประเทศที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาเป็นคู่แข่ง โดยเฉพาะจีน เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดใหญ่ มีจำนวนประชากรสูงมาก รัฐบาลอินเดียจึงต้องการซื้อเวลาเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในประเทศให้เข้มแข็งก่อน เหมือนประเทศไทยในตอนนี้การป้องกันระยะสั้น หรือการปรับตัวของผู้ประกอบการทำได้ลำบาก เพราะสินค้าทุนจีนไหลเข้ามาทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โหมเข้ามาทุกทิศทุกทาง ทำให้รัฐบาลจะต้องหามาตรการป้องกันเพื่อเซฟชีวิตให้ผู้ประกอบการปลอดภัย เตรียมหลุมหลบภัยไว้ให้ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล จึงอยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาในส่วนนี้