‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะสูตรเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า ‘จ่ายหัวละพัน’ ชี้คลังพอรับไหว แต่ต้องรื้อระบบภาษี

‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะสูตรเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า ‘จ่ายหัวละพัน’ ชี้คลังพอรับไหว แต่ต้องรื้อระบบภาษี

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ให้ความเห็นว่ากรณี “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ก่อนอื่นคือ สิทธิ หรือสวัสดิการต่างๆนั้น ทำได้สองรูปแบบ คือ 1.รูปแบบถ้วนหน้า และ 2.รูปแบบการเลือกเฉพาะกลุ่มที่อยากช่วยเหลือ ซึ่งทั้งสองรูปแบบมีข้อดูข้อเสียต่างกัน โดยรูปแบบถ้วนหน้า ข้อดีคือ รัฐบาลหรือคนทำนโยบายไม่ต้องกังวลใจ เพราะทุกคนได้สิทธิทันที แต่ปัญหาที่ตามมาคือใช้งบประมาณสูง

ส่วนรูปแบบเลือกกลุ่มนั้น ก็หมายความว่าคนที่รัฐบาลจะช่วยนั้นน้อยลง ไม่ใช่ทุกคน เพราะฉะนั้นงบประมาณก็จะลดลงแน่นอน แต่มีข้อด้อยสำคัญ คือ การคัดกรองกลุ่มคน อาทิ ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยแต่กลับไม่ได้รับสิทธิ อาจจะเพราะไปลงทะเบียนไม่ไหว ไม่มีหลักฐานเพียงพอ หรือกรณีที่ถูกคัดออกจากความผิดพลาด อีกด้านคือ ผู้สูงอายุที่มีฐานะแต่หลุดเข้ามาได้รับสิทธิ ซึ่งกรณีแบบนี้ก็เกิดให้เห็น ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เจอปัญหาแบบนี้มาแล้ว

หากพิจารณา “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ที่ใช้ในปัจจุบันนั้น เลือกกลุ่มเฉพาะผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ขึ้นไป ซึ่งตีเป็นวงเงินที่ใช้ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งถามว่าเยอะไหม ในทางวิชาการถือว่าพอรับได้ โดยทีดีอาร์ไอ ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วิจัยแล้วว่า ต่อให้มีการจ่าย เบี้ยผู้สูงอายุ ถ้วนหน้า 1,000 บาทต่อคน ระบบเศรษฐกิจไทยก็ยังรับได้ เพราะใน 1 ปี ใช้เงินราว 1.2 แสนล้านบาท ดังนั้นมาตรการปัจจุบัน ยังมองว่า ไม่มีปัญหาในทางวิชาการ เพราะการคลังประเทศยังรองรับได้

Advertisement

แต่หากมองไปอนาคต ความเสี่ยงมีมากขึ้น โดยมี 2 ปัจจัย คือ 1.จำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีราว 12 ล้านคน แต่ในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า จะมีราว 20 ล้านคน ดังนั้น แปลว่าเงินที่ใช้ต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะเพิ่มมาอีก 8 ล้านคน หรืออีก 60-70% งบจึงเพิ่มจาก 1.2 แสนล้านบาท เป็น 2 แสนล้านบาทต่อปี

ปัจจัยที่ 2.คือ เรื่องนโยบายพรรคการเมือง ที่เมื่อมีการเลือกตั้งรอบใหม่ ก็มักจะมีนโยบายให้สวัสดิการเพิ่ม โดยในการเลือกตั้งรอบนี้ จะเห็นว่าหลายพรรค ให้เบี้ยคนชรา เพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อคน ดังนั้น จากที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ใช้เงินงบเพิ่มมา 3 เท่าแล้ว และหากบวกเพิ่มปัจจัยการเมืองอีก งบที่ต้องใช้คือ 7 แสนล้านบาทต่อปี

“ปัจจุบัน ผมยังเห็นว่าการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุยังโอเค ยังรับได้เพราะจ่ายคนละไม่เกิน 1,000 บาท ก็ใช้งบ 1-2 แสนล้านต่อปียังไหว แต่ในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า ถ้าต้องจ่าย 7 แสนล้านบาทต่อปีรัฐบาลไหวไหม ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลในอนาคต” นายนณริฏ กล่าวและว่า ในอนาคตรัฐบาลอาจจะต้องหาเงินมาโปะงบ 7 แสนล้านบาทต่อปีให้ได้ ถ้าทำให้ทุกฝ่ายก็พอใจ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็เสี่ยงที่ประเทศจะเกิดวิกฤต โดยถ้าใครเลือกไปทางถ้วนหน้า ก็ต้องไปเก็บภาษีมากขึ้น ต้องเคลียร์กับประชาชนให้ได้ว่าต้องหาเงินมากขึ้น

Advertisement

“ถ้าเลือกใช้ระบบถ้วนหน้า แปลว่ารัฐบาลนั้นต้องวางแผนการจัดเก็บภาษี ซึ่งเรื่องภาษีนั้นใช้เวลา ออกกฎหมายต่างๆ หรือถ้าออกเกณฑ์แบบจ่ายเบี้ยถ้วนหน้า แต่ดันไม่เก็บภาษีเพิ่ม ก็จะเสี่ยงเกิดปัญหาทางการเงิน คล้ายๆกับประเทศในลาตินอเมริกา เพราะจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอ” นายนณริฏ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image