งัดแผนสู้เอลนิโญ กนอ.มั่นใจเอาอยู่

งัดแผนสู้เอลนิโญ กนอ.มั่นใจเอาอยู่

ท่ามกลางกลเกมการเมืองที่ร้อนระอุ รอวันจัดตั้งรัฐบาล อีกด้านจากมุมมองเอกชน ไม่เพียงเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว แต่ขีดเดดไลน์ว่าไม่ควรเกินเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ไม่เพียงเพื่อปลุกเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นคืนชีพเท่านั้น แต่ยังมีอีกมากมายหลายปัญหาที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไข ขับเคลื่อน

หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่รอเร่งรับมือแต่เนิ่นๆ นั่นคือ ภัยแล้งจากสถานการณ์เอลนิโญ ที่พยากรณ์ว่าอาจทำให้ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงและยาวนานไม่ต่ำกว่า 3 ปีจากนี้

เสียงจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ออกมาเตือนดังๆ รัวๆ ช่วง 2-3 เดือนมานี้ ว่ารัฐบาลต้องรับมือเข้มข้น พร้อม

ประเมินว่าหากละเลยหรือเมินเฉย อาจส่งให้เศรษฐกิจเสียหายถึง 5.3 หมื่นล้านบาท ประเด็นนี้ กกร.รายงานข้อมูลว่า ปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าคาดการณ์ พบปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วงมกราคม-กรกฎาคม 2566 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40%

Advertisement

เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือนกรกฎาคม 2566 พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับวิกฤต ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันตก มีปริมาณน้ำใช้การได้ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรง จึงประเมินว่าภัยแล้งอาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท

เรื่องนี้รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 2566 ถึงครึ่งแรกของปี 2567

จากข้อกังวลดังกล่าว กกร.ได้หารือร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยภาครัฐรับจัดทำ Water Balance ของแต่ละอ่างเก็บน้ำใหม่ และทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเอลนิโญ ที่มีไซเคิลยาวนานและผันผวนมากขึ้น

Advertisement

ด้าน สทนช.แจงข้อมูลปริมาณฝนสะสมในภาพรวมของประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ว่ายังคงต่ำกว่าค่าปกติ รวมถึงปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนปีนี้ก็ยังต่ำกว่าค่าปกติเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง คาดว่าจะประสบปัญหาฝนตกน้อย

โดยมีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 40% มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากสภาวะเอลนิโญที่ยังคงส่งผลกระทบอยู่ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศรวมกันอยู่ที่ 36,330 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยในพื้นที่ภาคกลางมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 189 ล้าน ลบ.ม.

ปัจจุบันได้กำชับให้กรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค เคร่งครัดการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลในทุกภาคส่วน วิเคราะห์และวางแผนอย่างรัดกุมให้มีความสอดคล้องกับความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ เพื่อรองรับผลกระทบของเอลนิโญที่คาดจะลากยาวไปถึงปี 2567

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออก การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลายฝ่ายห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญที่จะเด่นชัดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 ส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติทั่วประเทศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงบูรณาการวางแผนรับมือเพื่อลดผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งปี 2566/2567 และช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 รวมถึงสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับพื้นที่อย่างยั่งยืน

เมื่อไข่แดงอุตสาหกรรมไทยอย่างภาคตะวันออก ถูกตั้งข้อกังวลจากหลายฝ่าย!! ล่าสุด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดย วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ผู้ว่าการวีริศให้ข้อมูลว่า กนอ.ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก จากรายงานสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักที่สำคัญในพื้นที่ จ.ระยอง 3 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อยู่ที่ 164.94 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59.92% เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดแล้ว ยังสามารถบริหารจัดการได้แบบไม่สะดุด เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างมีเพียงพอ อีกทั้งช่วงที่ผ่านมามีฝนตกบ่อยครั้ง ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนนี้ต่อไป หากยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ จ.ชลบุรี 2 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำบางพระ และอ่างเก็บน้ำหนองค้อนั้นมีปริมาณน้ำรวม 58.58 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 42.33%

ปริมาณน้ำดังกล่าว กนอ.จึงจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรม โดยหารือร่วมกับภาคเอกชน วางแผนรับมือภัยแล้งในพื้นที่อีอีซี ผู้ว่าการ กนอ.ระบุ

ทั้งนี้ แหล่งน้ำหลักที่ได้รับการจัดสรรจากกรมชลประทาน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางพระ รวมถึงแหล่งน้ำที่สูบใช้ได้ในแต่ละปี มีปริมาณน้ำต้นทุนเป็นปริมาณน้ำท่าตามฤดูกาล ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง คลองทับมา และแหล่งน้ำเอกชน

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในกรณีน้ำในแหล่งน้ำมีน้อยและเกิดการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ สระสำรองน้ำดิบสำนักบก สระสำรองน้ำดิบฉะเชิงเทรา และสระสำรองน้ำดิบทับมา

ผู้ว่าการวีริศให้ข้อมูลอีกว่า สำหรับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีปริมาณการใช้น้ำต่อวันอยู่ที่ประมาณ 100,000-125,000 ลบ.ม. คาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 84.0 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำดิบจากหลายๆ แหล่ง ได้แก่ แหล่งน้ำของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์, สระพักน้ำของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, แหล่งน้ำจากคลองน้ำหู-ทับมา และแหล่งน้ำจากบริษัท วาย.เอส เอส.พี. แอกกริเกต จำกัด (YSSP)

ส่วนข้อกังวลของหลายฝ่ายต่อการเปลี่ยนผ่านผู้ให้บริการจ่ายน้ำดิบ จากอีสท์วอเตอร์ เป็นบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ที่จนถึงขณะนี้การวางท่อส่งจ่ายน้ำดิบในพื้นที่ทับซ้อนยังคงไม่แล้วเสร็จนั้น มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างแน่นอน โดย กนอ.สำรองน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ไว้แล้ว

ปัจจุบัน กนอ.ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบกับบริษัท วาย.เอส. เอส.พี. แอกกริเกต จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการน้ำในภาคอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งน้ำที่ทางบริษัทจัดหานั้น มาจากแหล่งน้ำแห่งใหม่ คือ คลองทับมา จ.ระยอง ไม่ใช่การแย่งน้ำจากภาคการเกษตรหรือการท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่เป็นการดึงน้ำจากจุดที่น้ำเหลือใช้ก่อนไหลลงทะเล และแน่นอนว่าการขออนุญาตใช้น้ำจากกรมเจ้าท่านั้น ได้กำหนดเงื่อนไขไว้อยู่แล้วว่าต้องไม่กระทบกับชุมชนและระบบนิเวศวิทยา ก่อนจะอนุญาตให้ใช้น้ำดังกล่าวได้

ยืนยันว่า กนอ.ไม่มีปัญหาเรื่องการจ่ายน้ำในพื้นที่นิคมฯมาบตาพุดแน่นอน เพราะเราหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งไว้แล้ว ปีนี้สถานการณ์น้ำแล้งไม่รุนแรง ยังมีฝนตกหลายพื้นที่ ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำหลักยังเพียงพอต่อการใช้ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม คาดว่าจะใช้ได้จนถึงช่วงกลางปีหน้า

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังแจ้งด้วยว่า ในการประชุมร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการอนุญาตแล้ว และมีเอกสารหลักฐานยืนยันถึงการได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำที่ถูกต้อง จึงมั่นใจได้ว่าน้ำสำรองที่ กนอ.ได้รับมานั้น เป็นน้ำที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ว่าการวีริศระบุทิ้งท้าย

แผนรับมือภัยแล้งจากเอลนิโญของ กนอ.จะเอาอยู่ไหม…ต้องลุ้นกัน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image