อวสานทีพีพีใต้เงา “โดนัลด์ ทรัมป์” โอกาสอาร์เซ็ปผงาดเอเชีย

นักสังเกตการณ์จำนวนมากระบุว่า จีนจะได้รับโอกาสในการกำหนดกฎเกณฑ์ของการค้าโลกใหม่และได้รับผลประโยชน์จากการโดดเดี่ยวตนเองมากขึ้นของสหรัฐอเมริกาหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะโยนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ทิ้งไป

มองทีพีพีครอบงำเศรษฐกิจ

แนวโน้มที่ทีพีพีจะถึงกาลอวสานได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากสื่อของทางการจีนที่วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็นความพยายามอย่างเปิดเผยที่จะแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและสกัดกั้นยับยั้งมหาอำนาจเอเชีย

โดยหนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เคยระบุไว้ในบทบรรณาธิการว่า เป้าหมายของทีพีพี คือ การสร้างอิทธิพลเพื่อครอบงำเศรษฐกิจของอเมริกาโดยการกันจีนออกไปและป้องปรามด้วยการควบคุมจำกัดทางเศรษฐกิจ

Advertisement

ขณะที่โกลบอลไทม์ส หนังสือพิมพ์แนวชาตินิยมของจีน ระบุว่า แนวทางใหม่ภายใต้การนำของทรัมป์จะทำให้จีนได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการกีดกันทางการค้ามากขึ้นของสหรัฐ และประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้จะสามารถรับไม้ต่อในการนำการค้าเสรีได้

ทั้งนี้ การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของทรัมป์ มหาเศรษฐีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ส่วนหนึ่งมาจากคำมั่นสัญญาว่าจะล้มข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่เขาระบุว่า ทำให้ชาวอเมริกันสูญเสียตำแหน่งงานไปและทำลายศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของสหรัฐ โดยทรัมป์ให้สัญญาอีกครั้งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง จะถอนตัวออกจากทีพีพี ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าของ 12 ประเทศที่ไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย ซึ่งผ่านการเจรจามาอย่างยากลำบาก

รวมถึงชาติพันธมิตรของสหรัฐ ที่บางแห่งใช้เวลาหลายปีในการโน้มน้าวชักจูงผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับทีพีพี เพราะหวังว่าเมื่อบรรลุข้อตกลงทีพีพีได้สำเร็จจะทำให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้น ดังนั้น เมื่อจะล้มทีพีพีทุกประเทศดังกล่าวต่างก็แสดงความผิดหวังไปตามๆ กัน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงทีพีพีถือเป็นเสาหลักด้านเศรษฐกิจในยุทธศาสตร์การปรับดุลอำนาจใหม่ในเอเชียของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่นระบุว่า การไม่เข้าทีพีพีของสหรัฐจะทำให้ข้อตกลงนี้ไร้ความหมายไปในทันที

จับตาจีนเปิดการค้าเสรีเอเชีย

สำหรับจีนและสหรัฐต่างแย่งชิงการแผ่ขยายอิทธิพลทางการทูตบนเวทีโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากจีนสร้างพลังอำนาจทางเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นมามาก และมักจะระบุถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐว่า เป็นรูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ ซึ่งคำพูดดังกล่าวถือเป็นการกล่าวอ้างเป็นนัยถึงการวางตำแหน่งของตนในระดับที่เทียบเท่ากับสหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ของไอเอชเอสโกลบอลอินไซท์ ระบุว่า หากสหรัฐหันหลังให้กับทีพีพี จะเป็นการเปิดประตูให้จีนพัฒนาเขตการค้าเสรีเอเชียของตนเอง

ขณะที่หลายประเทศรวมถึงออสเตรเลียได้แสดงออกถึงความสนใจในข้อตกลงการค้าทางเลือก อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มี 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน 10 ชาติ บวกกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และไม่มีสหรัฐอเมริการ่วมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ยังโน้มน้าวชักจูงผู้นำของละตินอเมริกาให้มาเข้าร่วมในการสร้างเขตการค้าที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (เอฟทีเอเอพี) ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเดินหน้าการมีส่วนร่วมในการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ

เอเชียเสี่ยงถูกทำให้ไม่สำคัญ

ทีพีพีถือเป็นผลผลิตจากการเจรจาที่เข้มข้นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลครอบคลุมถึงมาตรฐานในด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้นโดยชาติสมาชิก ซึ่งแตกต่างจากอาร์เซ็ป ที่หลายประเทศอาจจำเป็นต้องเปิดสงครามการเมืองภายในประเทศของตัวเองเพื่อที่จะลงนามเข้าร่วมในข้อตกลงนี้ และมีความเป็นไปได้สูงมากที่ข้อตกลงจะล่มจากการเปลี่ยนแปลงอันหนึ่งอันใดในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก (เอเรีย) ในอินโดนีเซีย ระบุว่า หากพิจารณาอาร์เซ็ปอย่างเป็นอิสระโดยไม่นำไปเปรียบเทียบกับทีพีพีที่กรอบความคิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแล้ว สามารถมองได้ว่า อาร์เซ็ปมีความสำคัญอย่างยิ่งในตอนนี้ เอเรียระบุว่า ชาติเอเชียควรจะต้องตระหนักถึงความเสี่ยงจากการถูกทำให้ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการเปิดเสรีทางการค้าเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ ในแง่มุมทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างปัจจุบันนี้เป็นเรื่องสำคัญว่า ประเทศนั้นนั่งอยู่ที่โต๊ะเจรจาในฐานะประเทศของตนเองอย่างเดียว หรือเป็นตัวแทนทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาค เพราะอย่างอาเซียนและเอเชียตะวันออกรวมกันแล้วจะถือเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ยังถือเป็นกรอบที่ดีที่สุดในการสร้างความเท่าเทียมกันสำหรับการค้าและการลงทุนของโลก ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าระบบการเมืองแบบแบ่งขั้วด้วยการรวมเป็นหนึ่งของกลุ่มก้อนในภูมิภาคจะช่วยให้แต่ละประเทศมีโอกาสในการพัฒนามากกว่าไม่เพียงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและญี่ปุ่น แต่เป็นประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจขนาดเล็กด้วย

แนะขั้นแรกลดเก็บภาษีสินค้า

ดังนั้นอาร์เซ็ปจะสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อเอเชีย ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว อาร์เซ็ปเป็นความพยายามหนึ่งของประเทศในเอเชียที่จะบริหารจัดการในการเสาะหารายได้จากเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาค

อาร์เซ็ปควรจะถูกมองด้วยว่าเป็นส่วนขยายของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน และเป็นเวทีสำหรับการแสดงออกเป็นกลุ่มก้อนในการมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยอาเซียนสามารถอยู่ที่ศูนย์กลางของกระบวนการและรับบทบาทเป็นผู้ประสานงานในการปฏิบัติและดำเนินการได้

และในขณะที่การเติมเต็มอาร์เซ็ปด้วยการยกระดับมาตรฐานต่างๆ ให้เหมือนกับที่วางกรอบไว้ในข้อตกลงทีพีพี จะเป็นเรื่องที่หลายๆ ฝ่ายต้องการเห็นเป็นอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจยังเป็นเรื่องไม่จำเป็นในขั้นแรก โดยสิ่งที่ต้องทำก่อนและน่าจะเป็นไปได้มากกว่า คือ การตั้งเป้าลดอัตราการเก็บภาษีสินค้าลงให้ได้ราว 90-95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จริงๆ สามารถทำได้แล้วในข้อตกลงเอฟทีเออาเซียน+1 กับประเทศคู่ค้าเกือบทั้งหมด

หนุนอาร์เซ็ปประสานความร่วมมือ

อย่างที่ 2 คือ การกำหนดเงื่อนไขในเรื่องที่สามารถทำได้อย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่ามีการนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้อาร์เซ็ปมีความหมายสำหรับผู้ถือผลประโยชน์ร่วมในวงกว้าง

สุดท้าย คือ การส่งเสริมอาร์เซ็ปในฐานะความร่วมมือประสานงานที่ไม่ใช่เพียงแค่การรวมกลุ่มเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องสำคัญว่าอาร์เซ็ปเป็นเพียงรูปแบบความตกลงทางการค้าแบบโบราณในยุคศตวรรษที่ 20 ตราบใดที่ข้อตกลงมีประสิทธิผลในการรวมกลุ่มในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นและส่งเสริมความร่วมมือให้ดียิ่งขึ้น

หากมองในมุมกลับแล้ว แทนที่จะตั้งเป้าหมายหรือมาตรฐานไว้สูงซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการเจรจาอย่างยาวนานกว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างทีพีพี แต่ควรใช้วิธีที่เน้นการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในแบบที่จับต้องได้มากกว่า

หากประสบความสำเร็จ อาร์เซ็ปจะถือเป็นข้อตกลงระดับภูมิภาคของ 16 ประเทศที่มีประชากรรวมกันแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของโลก 25 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลก และราว 40 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการค้าโลก

หน้า 6

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image