‘เฟทโก้’ จ่อตบเท้าพบรัฐบาลใหม่ ชงมาตรการหนุนตลาดทุน เน้น 4 ข้อเสนอหลัก

‘เฟทโก้’ จ่อตบเท้าพบรัฐบาลใหม่ ชงมาตรการหนุนตลาดทุน เน้น 4 ข้อเสนอหลัก

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า เมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว เฟทโก้จะเข้าไปหารือกับทางรัฐบาล เพื่อนำเสนอนโยบายในเรื่องการส่งเสริมตลาดทุนให้เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะด้านกฎเกณฑ์และกฎหมายต่างๆ ที่ต้องการแก้ไข ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ทั้งการปรับกฎเกณฑ์ให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาตลาดทุนไปข้างหน้าได้ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งกรณีหุ้นสตาร์ค หุ้นมอร์ ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งเรื่องของการหลอกลวงลงทุนในกรณีต่างๆ ด้วย

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น หัวใจที่สำคัญในตอนนี้คือ ประเทศไทยต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง เนื่องจากงบประมาณประจำปี 2567 จะล่าช้าออกประมาณ 3 เดือน ซึ่งจะเป็นจังหวะเดียวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากกว่านี้ ทำให้เป็นจุดสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เงินที่ต้องนำไปใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีอยู่ไม่มากนั้น จะนำไปใส่ในกระบวนการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งรัฐบาลต้องเป็นผู้ตัดสินใจตามเงินที่มีทั้งหมดในหน้าตัก ทำให้ภาพรวมในเชิงเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างในช่วงต้นปี 2567 ถือเป็นเรื่องที่ดี

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ได้เตรียมเสนอกองทุนใหม่ให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อตอบโจทย์คนไทย หลังจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (เอสเอสเอฟ) จะหมดอายุลงในปีนี้ ซึ่งจะเตรียมปรับปรุงให้กองทุนเอสเอสเอฟมีความน่าสนใจมากขึ้น จากที่ผ่านมาไม่ตอบโจทย์นักลงทุนเท่าที่ควร ส่วนการจัดเก็บภาษีขายหุ้นจะต้องเดินหน้าต่อไปหรือไม่

Advertisement

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า มีข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ 4 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1.การพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ในอีก 4 ปีต่อจากนี้ไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถเจริญเติบโตได้ หากไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี อาทิ ภาพที่เห็นปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามากระทบเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นความท้าทาย

2.ปัญหาปากท้องและการสร้างรายได้ของประชาชน โดยจะต้องทำสิ่งที่มีอยู่แล้ว อาทิ ซอฟต์พาวเวอร์ อะนิเมชั่น ที่ไทยเป็นผู้เล่นต้นๆ ของโลก สามารถต่อยอดไปได้เร็วในช่วงที่กำลังสร้างฐานใหม่

3.การส่งเสริมบริษัทไทยไปสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น เพราะขณะนี้อาเซียนเป็นเป้าหมายสำคัญในการลงทุนจากทั่วโลก

Advertisement

และ 4.การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เปลี่ยนชื่อก็ได้ แต่ต้องเดินหน้าต่อ เพราะเราไม่มีเวลาในการสร้างใหม่ ท่ามกลางช่วงเวลาที่มีนักลงทุนรออยู่หน้าประตูบ้านแล้ว

“คำถามคือ เราจะก้าวขึ้นมาเป็นการทำเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้อย่างไร เพราะหากเราไม่แก้ไขตอนนี้ในอีก 4 ปีข้างหน้า เรื่องนี้จะเป็นแผลเป็นที่สาหัสของประเทศไทย โดยมองว่าหากเราไม่มีนักวิจัยที่เก่งมากพอ ทำไมเราไม่แก้ไขกฎเกณฑ์เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหรือฮับในการทำการวิจัย เพื่อให้เข้ามาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการทำงาน รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการทำงานอย่างแท้จริง” นายกอบศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image