อีอีซี เผยเอกชนทุ่ม 4 หมื่นล. บูมสนามบินอู่ตะเภาเปิด 24 ชม. จ่อชง รบ.ใหม่ สานต่อรถไฟไฮสปีด

อีอีซี เผยเอกชนทุ่ม 4 หมื่นล้าน บูมสนามบินอู่ตะเภาเปิด 24 ชม. จ่อชง รบ.ใหม่ สานต่อรถไฟไฮสปีด

ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 โดยกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 โดยให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 แห่งกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ.2547 ว่า

“สถานบริการตามมาตรา 3 (1) ถึง (5) ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่องกำหนดเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ให้เปิดทำการได้ตลอด 24 ชั่วโมง”

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การอนุญาตให้ตั้งสถานบริการนั้น จะดำเนินการสร้างสถานบริการให้อยู่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตเมืองการบิน ซึ่งในเขตดังกล่าวจะมีรันเวย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสนามบินอู่ตะเภาทั้งหมด แล้วเมืองการบินที่ติดกับสนามบินอู่ตะเภา มีพื้นที่โดยประมาณ 6,000 ไร่ และไม่มีการสร้างสถานบริการออกนอกเขตดังกล่าว

Advertisement

ขณะที่ผู้ลงทุนสร้างสถานบริการจะเป็นเอกชน โดยหลักจะเป็นบริษัทผู้ที่ได้รับสัมปทาน 50 ปี ในการสร้างสนามบินอู่ตะเภา ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ลงทุนสร้างสถานบริการ และอาจมีการร่วมมือกับภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อดึงพันธมิตรเข้าร่วมสร้างสถานบริการให้เกิดกิจกรรมในพื้นที่ในเมืองการบิน ซึ่งประมาณการลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท

“สำหรับการสร้างสถานบริการอาจเป็นห้างสรรพสินค้า คอมเพล็กซ์ โรงแรม ร้านอาหาร เอาต์เล็ต รวมถึงฮอลล์จัดกิจกรรมสำหรับการแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ ไว้สำหรับเชิงพาณิชย์ ซึ่งการขยายเวลา 24 ชั่วโมง จากปกติขายได้เพียง 8 ชั่วโมงในบริเวณเมืองการบิน ก็สอดคล้องกับการให้บริการของสนามบินที่มีผู้ใช้บริการเดินทางด้วยสนามบินอู่ตะเภา เมื่อลงสนามบินสามารถเลือกพักผ่อนในสถานบริการที่มีการสร้างไว้ได้จะเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งมองว่าจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่” นายจุฬากล่าว

นายจุฬากล่าวว่า หลังมีการเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้น ขณะนี้กำลังจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ โดยในส่วนของ สกพอ. ยังไม่มีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ เสนอรัฐบาลใหม่ และคงไม่เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ แต่จะผลักดันการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเดิมให้เสร็จสิ้นโดยเร็วขึ้น เพราะโครงการ และความรับผิดชอบหลักของ สกพอ. คือการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เนื่องจากการลงทุนอุตสาหกรรมที่อีอีซีดูแล ไม่ได้เป็นการลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง แต่จะมุ่งไปที่พื้นที่ว่างๆ นำมาใช้ประโยชน์และดึงนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุน

Advertisement

“สกพอ.จะเร่งพูดคุยกับรัฐบาลใหม่ในเรื่องที่ดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และยังทำงานช้าอยู่ เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่อีอีซี จะผลักดันให้เกิดการเดินหน้าให้เร็วขึ้น” นายจุฬากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image