ลุ้น ‘เศรษฐา’ เคาะ ‘ภาษีที่ดิน 2567’ เศรษฐีแห่ทำเกษตร ย้ายบ้านเลี่ยงจ่ายแพงอื้อ
เมื่อวันที่ 3 กันยายน แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังจากที่อัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 2566 สำหรับการจัดเก็บในปี 2567 คงต้องรอดูนโยบายนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะกำหนดอัตราการจัดเก็บเท่าไหร่ จะเป็นอัตราชนเพดาน หรือยังใช้อัตราเดิมแต่เก็บ 100% หรือมีอัตราลดหย่อนให้เหมือนทุกปี ซึ่งกระทรวงการคลังต้องแจ้งอัตราการจัดเก็บในเดือนมกราคม 2567 ส่วนการที่จะยกเลิกภาษีที่ดินฯและกลับไปใช้ภาษีโรงเรือนและที่ดินเหมือนเดิมคงไม่ง่ายและทำให้ฐานภาษีสั่นคลอน
แห่ทำเกษตร-ย้ายที่อยู่เลี่ยงภาษีแพง
“ปี 2566 พบว่ามีการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากรกร้าง เป็นที่ดินเกษตรกรรมจำนวนมากกว่า 50% เพราะจ่ายถูกกว่าอัตราที่ดินรกร้าง ซึ่งเรียกว่ามีการเลื่อนไหลการใช้ประโยชน์ที่ดินทำให้เก็บภาษีได้น้อยลง รวมถึงมีการย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อให้เข้าเกณฑ์ยกเว้นภาษีบ้านหลังแรกไม่เกิน 50 ล้านบาท ด้านการเก็บภาษีจากธุรกิจอพาร์ตเมนต์ก็ลดลงอย่างน่าใจหายเป็น 1,000 เท่า เช่น จากเดิมเก็บตามภาษีโรงเรือน ที่เก็บในอัตรา 12.5% ต่อปี เคยเก็บได้ 200,000 บาท เหลือ 2,000 บาท เป็นต้น อยากให้รัฐบาลใหม่ทบทวนภาษีที่ดินใหม่ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น กรณียกเว้นบ้านหลังแรก 50 ล้านบาท ในกรุงเทพฯ มีแค่ 10 รายเท่านั้น ควรจะกำหนดให้เหลือ 10-15 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว
รฟท.ค้างจ่ายกว่า 370 ล้าน
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับผลการจัดเก็บภาษีที่ดินปี 2566 จากที่แจ้งประเมินไป 14,000 ล้านบาท มียอดชำระแล้ว 11,266 ล้านบาท และยังไม่จ่ายอีกประมาณ 3,370 ล้านบาท ส่วนเช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตั้งแต่รอบปี 2565-2566 มียอดรวมกว่า 370 ล้านบาท เพราะมีการยื่นอุทธรณ์ ส่วนอื่นๆ อาจเป็นเพราะจดหมายถูกตีกลับจึงยังไม่มาชำระตามกำหนด คงต้องมีการตรวจสอบต่อไป
ธุรกิจจัดการที่ดินบูมคาดสิ้นปีทะลัก
นายบุญชู พรหมสอน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเวอร์ทีม จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีลูกค้าติดต่อให้ไปปรับพื้นที่และปลูกพืชตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ดินเกษตรกรรมอัตรา 0.01-0.1% อย่างต่อเนื่องแต่ไม่หวือหวาเหมือนช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินมรดกและเป็นแปลงเล็ก โดยอยู่ในพื้นที่ในเมืองที่ราคาประเมินที่ดินสูง เพื่อลดภาระภาษี โดยบริษัทคิดค่าบริการ ถ้าเป็นที่ดินสมบูรณ์ ปลูกอย่างเดียวตกไร่ละ 30,000 บาท ถ้าต้องเคลียร์พื้นที่และปลูกด้วยไร่ละ 70,000 บาท พร้อมบริการดูแลและตัดต้นไม้ให้ โดยพืชที่นิยมปลูก เช่น มะพร้าว เพราะกฎหมายกำหนดให้ปลูกแค่ 20 ต้นต่อไร่ และมะม่วง
“ส่วนใหญ่เจ้าของที่ดินจะกระตือรือร้นช่วงใกล้เสียภาษี คือ ต้นปี ดังนั้นในรอบภาษีปี 2567 จะเริ่มคึกคักตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะที่ดินแปลงใหญ่ เพราะตามเกณฑ์การเสียภาษีจะต้องปลูกก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 ถ้าทำหลังจากนี้จะไม่ได้สิทธิ ต้องเสียอัตราที่ดินรกร้าง ปัจจุบันลูกค้าเรามีเป็นเจ้าสัวประมาณ 10% นักธุรกิจ 50% เจ้าของมรดก 40% และปัจจุบันคนที่ไม่อยากรับภาระภาษีหรือดูแลที่ดิน จะมีนำมาปล่อยเช่ามากขึ้น” นายบุญชูกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราภาษีจัดเก็บในปัจจุบันจะครบกำหนดในปี 2566 ได้แก่ 1.ที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บ 0.01-0.1% 2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจัดเก็บ 0.02-0.1% 3.ที่ดินอื่นๆ เช่น การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม จัดเก็บ 0.3-0.7% และ 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บ 0.3-0.7%
ส่วนอัตราเก็บเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรมไม่เกิน 0.15% หรือเพิ่ม 15 เท่า จากล้านละ 100 บาท เป็นล้านละ 1,500 บาท, บ้านพักอาศัยไม่เกิน 0.3%, ที่ดินอื่นๆ และที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 1.2%