“ดร.อนุสรณ์” คาดศก.ฟื้นหลังครม.ใหม่ขับเคลื่อน เตือนระวังนโยบายประชานิยมกระทบวินัยการคลัง 

“ดร.อนุสรณ์” คาดศก.ฟื้นหลังครม.ใหม่ขับเคลื่อน เตือนระวังนโยบายประชานิยมกระทบวินัยการคลัง

เมื่อวันที่ 3 กันยายน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขับเคลื่อนการบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองลดลง ความขัดแย้งเผชิญหน้าทางการเมืองก่อนการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 คลี่คลายลงอย่างมาก หากรัฐบาลสามารถบริหารนโยบายได้ตามเป้าหมายน่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทะลุระดับ 19 ล้านล้านบาทได้ และ รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีสูงกว่า 270,000 บาทได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2567 โดยเราต้องมีอัตราการขยายตัวอย่างต่ำในปี พ.ศ. 2567 ในระดับ 4.5-5% หากประเทศไทยสามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 เท่าจากระดับปัจจุบันในอีกหนึ่งถึงสองทศวรรษหน้า ประเทศไทยก็จะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงขั้นแรก คือ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 810,000 บาทต่อปี หากจะก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็ยังห่างไกลสิงคโปร์ที่มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.73 ล้านบาทต่อปี เกาหลีใต้ 900,000 ล้านบาทต่อปี

หากไทยจะก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ต้องมีการวัด ดัชนีการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ (Human Development Index – HDI) ว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ HDI มีการวัดความยืนยาวของอายุและด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านมาตรฐานการครองชีพและคุณภาพชีวิต รวมทั้ง ต้องมิติทางด้านการกระจายรายได้และกระจายความมั่งคั่ง ความเท่าเทียมทางเพศ ความยั่งยืนและความมั่นคงของมนุษย์อีกด้วย ประเทศไทยมีดัชนีการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์อยู่ในระดับปานกลางแต่มีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมทั้งล้าหลังกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

ชี้การเมืองมีเสถียรภาพช่วยดันศก.

ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยมีความสำคัญต่อเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่คลี่คลายลงเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระยะยาว ขณะเดียวกัน ประเทศก็มีฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารประเทศได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก้าวหน้าต่อไป ความขัดแย้งรุนแรงเผชิญหน้าและการเมืองบนท้องถนนจะลดลง เป็นช่วงเวลาที่ประเทศมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าในช่วง 17-18 ปีที่ผ่านมาก่อนการรัฐประหาร 19 กันยาย พ.ศ. 2549 การมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย (ไม่ใช่เพียงแค่เสถียรภาพของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง) เป็นผลบวกต่อการดำเนินการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่าเดิมและเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในทุกภาคส่วนได้ง่ายขึ้น

Advertisement

เตือนระวังใช้นโยบายประชานิยมสร้างปัญหาการคลัง

ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังการใช้นโยบายประชานิยมที่ไม่ได้ยึดถือกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี และ ไม่ใส่ใจต่อวินัยการเงินการคลัง นอกจากประเทศจะมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 10.92 ล้านล้านบาท คิดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 61.69% แล้ว ในช่วงสองทศวรรษ รัฐบาลต่างๆได้ดำเนินนโยบายกึ่งการคลังผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และ รัฐบาลยังคงติดค้างหนี้เงินชดเชยรายได้ธนาคารเฉพาะกิจจำนวนมาก ยอดหนี้สาธารณะนี้มีทั้งภาระผูกพันโดยตรง (Direct Liabilities) และ ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (Contingent Liabilities) หนี้คงค้างที่รัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยการชดเชยค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานอีกจำนวนมาก เฉพาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต รัฐบาลยังคงติดค้างหนี้เงินชดเชยรายได้ให้ กฟผ. และ กองทุนประกันสังคม อีกด้วย

เชื่อ Soft Power ช่วยดันศก.โต

Advertisement

ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วน มาตรการและนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะช่วยสร้างรายได้ยั่งยืนให้ประเทศ และจะช่วยลดปัญหาหนี้สินในทุกระดับของประเทศ นโยบายเมื่อประสานเข้ากับนโยบายการศึกษาและการลงทุนทางด้านวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสมจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในสองทศวรรษข้างหน้า มาตรการส่งเสริม Soft Power จะทำให้เกิดการ Reskill แรงงานหลายล้านคน พัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งระบบ รวมทั้งสามารถใช้การต่างประเทศเชิงเศรษฐกิจวัฒนธรรมเชิงรุก สร้างฐานรายได้ใหม่ได้ เป็น New Engine of Growth และ สิ่งนี้ ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส ได้มีบทเรียนแห่งความสำเร็จมาแล้ว

ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า Soft Power เป็นทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ ดร. โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นิยามคำว่า Soft Power หมายถึงการสร้างอิทธิพลครอบงำหรือมีอำนาจเหนือประเทศอื่นโดยไม่ใช้กำลังบังคับ เช่น การใช้กองทัพรุกราน แต่ใช้ความนุ่มนวลในการโน้มน้าว เช่น การใช้วัฒนธรรม เพื่อให้ประเทศอื่นทำตามในสิ่งที่เราต้องการ เช่น สหรัฐเผยแพร่ค่านิยมแบบอเมริกันผ่านภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมกีฬา แฟชั่นสไตล์อมริกัน หรือ วัฒนธรรมอาหารการกินแบบอเมริกัน เพื่อให้คนซึมซับค่านิยมอเมริกันและอยากเป็นแบบอเมริกันในที่สุด หากถกเถียงในทางทฤษฎี ความเข้าใจ soft power ลักษณะที่ว่ายังมีจุดบกพร่อง soft power เป็นทฤษฎีซึ่งก่อเกิดในสาขารัฐศาสตร์ นำเสนอโดยศาสตราจารย์ Joseph S. Nye, Jr. แห่ง Harvard University นักวิชาการท่านนี้ต้องการให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศหลังยุคสงครามเย็นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง มีการใช้อำนาจแบบใหม่ที่ไม่ใช่ Hard Power เพื่อโน้มน้าวกลุ่มเป้าหมายผ่านกลไกผสมผสาน เช่น ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ภาพลักษณ์ทางการเมือง และ การส่งออกวัฒนธรรมและค่านิยม จะทำให้ความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ลึกซึ้งขึ้นและผูกพันกันมากขึ้น อำนาจแบบนี้เรียกว่า soft power ต่างจากอำนาจทางทหาร หรือ การขู่เข็ญบังคับแม้มีเป้าหมายเดียวกัน แบบหนึ่งดูอ่อนโยน อีกแบบแข็งกร้าว

กรณีเกาหลีใต้ได้ขับเคลื่อน Soft Power ด้วยวัฒนธรรมผ่านการส่งออกอุตสาหกรรมความบันเทิง เกาหลีใต้ใช้อุตสาหกรรมบันเทิงเผยแพร่ภาพลักษณ์ “เกาหลีใต้ใหม่” จูงใจให้คนอยากเป็นแบบเกาหลีใต้ ทำให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวเกาหลีใต้เติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้ความเข้าใจและมอง soft power เป็นเพียงการสร้างความนิยมเพื่อผลทางการค้าหรือเศรษฐกิจเท่านั้น มุมมองนี้ไม่ผิด แต่ก็ไม่ครบถ้วน จริง ๆ แล้ว soft power คืออำนาจที่ต้องอาศัยกระบวนการจัดการและตอบสนองต่อภาคการเมือง ประเทศไทยมี Soft Power แต่ขาดการจัดการอย่างมียุทธศาสตร์จากรัฐบาล หากพิจารณาองค์ประกอบตลอดกระบวนการ จะเห็นว่า soft power เป็นมากกว่าการส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านวัฒนธรรมหรือความบันเทิงอย่างแน่นอน

แนะส่งเสริม “เงินบาท-ภาษไทย” ด้วย

“หากทำได้สำเร็จจะก่อให้รายได้อย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจไทย โดยจุดเน้นของนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยจะไปในทิศทางเดียวกับ เกาหลีใต้ เน้นประยุกต์ใช้ในมิติทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ โดยวิธีการโน้มน้าวให้ลูกค้าต่างชาติอยากได้ อยากมี อยากเป็น แบบไทย สิ่งที่ต่างชาติประทับใจในประเทศไทยจากอัธยาศัย ไมตรี รอยยิ้ม ความมีน้ำใจและอารมณ์ขัน ฝีมือการทำอาหารของไทย การต่อสู้อย่างมวยไทย ศิลปวัฒนธรรม และ การแต่งกายแบบไทยไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตนเสนอว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ควรไปไกลกว่ามิติทางเศรษฐกิจ แต่ ควรสร้างบทบาทของไทยต่อเวทีโลกและภูมิภาคเพื่อส่งเสริม “สันติธรรม” และ “ความสมดุลพอเพียง” ให้เกิดขึ้น ผ่าน พุทธศาสนา ผ่านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้ง การส่งเสริม บทบาทของ “เงินบาท” และ บทบาท “ภาษาไทย” ในตลาดโลกด้วย”ดร.อนุสรณ์กล่าว

ขณะเดียวกัน แนวทางนโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft power” หรือ One Family One Soft Power (OFOS) ต้องมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือคนไทยเพิ่มเติมขนานใหญ่ ผ่านนโยบาย OFOS โดยจะเปิดโอกาสให้ “ทุกครัวเรือน” สามารถเข้ามาฝึกอบรมผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” เพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ของตัวเองให้สูงขึ้น ทั้งการร้องเพลง การทำอาหาร การผลิตงานบันเทิงและศิลปะ การเขียนนิยาย และอื่นๆ
พรรคเพื่อไทยในอดีต คือ พรรคไทยรักไทย เคยทำสำเร็จมาแล้วในนโยบาย OTOP หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ดังนั้น OFOS จึงเป็นนโยบายที่ “Upskill-Reskill คนไทยทั้งประเทศได้

แนะพัฒนาทักษะแรงงานต่างด้าวด้วย

ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ขอเสนอว่านโยบาย OFOS นี้ ควรขยายไปยังแรงงานต่างด้าวในไทยด้วย พร้อมกับสร้างตำแหน่งงานใหม่รองรับแรงงานที่ผ่านการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ส่วนการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ THACCA หรือ Thailand Creative Content Agency จะเป็นองค์กรที่ออกแบบมาเพื่อ “สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้ที่มี KOCCA หรือไต้หวันที่มี TAICCA โดย THACCA จะเป็นหน่วยงานที่บริหารให้บรรลุผลตามนโยบาย OFOS, THACCA ควรจัดรูปแบบองค์กรที่ไม่ใช่แบบราชการ แต่เป็นองค์กรของรัฐรูปแบบพิเศษ แล้วใช้หน่วยงานนี้ประสานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักผู้แทนการค้าไทย กระทรวงการต่างประเทศ และอื่นๆ เพื่อทำงานร่วมกันในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ

องค์กรอย่าง THACCA จึงเป็นองค์กรที่ สร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานผู้แทนการค้าและกระทรวงต่างประเทศก็ต้องเดินหน้าทำข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า หรือ FTA เพื่อเปิดกว้างให้กับสินค้าทางวัฒนธรรมของไทยส่งออกได้อย่างเต็มที่ สินค้าและบริการ ควรครอบคลุม ตั้งแต่ อาหารไทย วิถีชีวิตแบบไทย ดนตรี ภาพยนตร์ ศิลปะและแฟชั่นแบบไทยไทย เป็นต้น บทเรียนความสำเร็จของ K-pop เกาหลีใต้ เป็นผลจากวิสัยทัศน์และความร่วมมือของรัฐบาลกับเอกชนในการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงแบบบูรณาการและการส่งเสริมของรัฐอย่างเอาจริงเอาจัง และ สังคมไทยมีวัตถุดิบทางวัฒนธรรมอยู่ค่อนข้างมาก ต้องเอามาบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและแพร่หลายในวงกว้าง

หวังลดระดับหนี้ครัวเรือนได้

ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มาตรการเพิ่มรายได้ สร้างงาน ผ่าน นโยบาย Soft Power OFOS นั้นจะช่วยบรรเทาวิกฤติหนี้ครัวเรือนได้ระดับหนึ่ง และ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงจะทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูงกว่า 90% ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 70% แม้นสถานการณ์ภาพรวมรายได้การส่งออกยังน่าเป็นห่วงและคาดว่า อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกไทยอาจติดลบในปีนี้ แต่ราคาข้าวโลกพุ่งสูง จากการระงับการส่งออกข้าวของหลายประเทศ จะเป็นโอกาสของการส่งออกข้าวไทย เพราะผลผลิตของไทยมีมากกว่าความต้องการบริโภคในประเทศมาก สามารถส่งออกได้มากโดยไม่ต้องควบคุมโควต้า ราคาข้าวในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image