เปิด ‘ค่าตั๋ว’ รถไฟฟ้าสารพัดสี หากนั่งข้ามสาย หลายต่อ ต้องจ่ายกี่บาท?
มีการส่งสัญญาณจาก ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’เจ้ากระทรวงคมนาคม จะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่และสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เหลือ 20 บาทตลอดสายใน 3 เดือนและได้นั่งรถไฟฟ้าทุกสาย 20 บาทตลอดสายภายใน2 ปี
ถือว่าเป็นเรื่องดี หากทำสำเร็จตามที่ลั่นวาจาไว้!
ในระหว่างรอลุ้นนั่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ชวนรีเช็กค่าโดยสารของแต่ละเส้นทางราคาเท่าไหร่ในปัจจุบัน
เริ่มจาก “สายสีเขียว” ค่าโดยสารแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ สายหลัก(สัมปทาน) สายสุขุมวิทช่วงหมอชิต-อ่อนนุชและสายสีลมช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ค่าโดยสารอยู่ที่ 17-47 บาท
ส่วนต่อขยายที่1 สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย
และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เดิมจะเก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท แต่ปัจจุบักรุงเทพมหานคร(กทม.) ยังเปิดให้นั่งฟรีไม่มีกำหนด
“สายสีน้ำเงิน” ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ค่าโดยสาร 17-43 บาท “สายสีม่วง” ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ค่าโดยสาร 14-42 บาท หากผู้โดยสารเปลี่ยนระบบระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงจะยกเว้นค่าแรกเข้า
“สายสีแดง” ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิหรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ค่าโดยสาร 15-45 บาท
“สายสีทอง” ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน ค่าโดยสาร 16 บาทตลอดสาย หากเข้าระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรี จะเสียค่าแรกเข้าอีก 16 บาท
“สายสีแดง” ช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ค่าโดยสาร 12-42 บาท หากเปลี่ยนระบบระหว่างสายสีแดงกับสีม่วงและสีน้ำเงิน จะยกเว้นค่าแรกเข้า
ส่วน 2 สายใหม่ ในส่วนของ ”สายสีเหลือง”ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เพิ่งเปิดวิ่งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ค่าโดยสาร 15-45 บาท
ขณะที่ “สายสีชมพู” ช่วงแคราย-มีนบุรี มีคิวเปิดภายในปี 2567 เก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท
“สายสีส้ม” ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี จะเปิดบริการในปี 2568 ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท
และ “สายสีม่วง” ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ จะเปิดบริการในปี 2570 ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาทเช่นกัน
หากนั่งต่างระบบ ต่างสัมปทาน และหลายต่อก็ต้องจ่ายค่าแรกเข้าหลายครั้ง อย่างเช่น ถ้านั่งสายสีเขียวจะเข้าไปใช้สายสีอื่น เช่น สีชมพู สีเหลือง สีน้ำเงิน ต้องจ่ายค่าแรกเข้าต่อที่สอง