ผู้ว่าแบงก์ชาติ โต้ข่าวขึ้นดอกเบี้ย 2.50% ชะลอเงินไหลออก แต่ขึ้นเพราะเหมาะสมกับ ศก.ฟื้น

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ชี้ขึ้นดอกเบี้ย 2.50% เหมาะสมกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 29 กันยายน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ว่า ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ธปท.) มีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.50% อาจเป็นรอบที่หยุดการขึ้นดอกเบี้ยไว้สักระยะหนึ่ง ซึ่งมองว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเหมาะสมกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ระยะถัดไปหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ของ กนง. การดำเนินนโยบายทางการเงินมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“ถามว่าจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นไหม ยังบอกไม่ได้ เพราะหากทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดก็อาจจะอยู่ในระดับนี้ได้สักพัก แต่หากระหว่างทางมีอะไรที่ไม่ได้เป็นไปตามคาด ก็สามารถที่จะเป็นไปในทิศทางอย่างอื่นได้” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

Advertisement

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า สิ่งที่ ธปท.พยายามสื่อสารมาตลอดในหลักการดำเนินนโยบายทางการเงิน โดยได้แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ โดย ระยะ 1 เป็นเรื่องการดำเนินนโยบายปรับสู่ระดับปกติและการฟื้นเศรษฐกิจอย่างไม่สะดุด (Smooth TakeOff) อีกทั้งขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ระดับต่ำที่ 0.50% แต่เงินเฟ้ออยู่ระดับสูงที่ 7% เพื่อป้องกันการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต จึงต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

ขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายขณะนี้ได้เข้าสู่ ระยะ 2 เรื่องการฟื้นเศรษฐกิจเข้าสู่ระดับเหมาะสม (Landing) ซึ่งการดำเนินนโยบายโดย กนง.ได้ขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.50% อาจจะหยุดขึ้นวงจรดอกเบี้ยในรอบนี้ และพิจารณาว่าเป็นการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อความเหมาะสมกับเศรษฐกิจระยะยาว

“นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยยังอยู่ระดับต่ำ หากเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคเดียวกัน เช่น มาเลเซีย 3% เกาหลีใต้ 3.5% อินโดนีเซีย 5.75% และฟิลิปปินส์ 6.25%” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

Advertisement
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยจะพิจารณา 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเสถียรภาพ 1.การฟื้นตัวเศรษฐกิจให้มีศักยภาพในระยะยาว หรือจีดีพีที่ 3-4% 2.เงินเฟ้อต้องอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท.ที่ 1-3% เป็นระดับยั่งยืน และ 3.ต้องไม่สร้างความไม่สมดุลต่อระบบการเงิน

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า เรื่อง ค่าเงินบาท ปัจจุบันพบว่าค่าเงินบาทผันผวนมากกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องของเงินเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ทุกครั้งที่มีข่าวทำให้ตลาดมีความผันผวน

นอกจากนี้ ที่ค่าเงินบาทผันผวนหนักเพราะไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับค่าเงินหยวนค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดและชะลอเงินไหลออก โดยเป้าหมายของค่าเงินคือดูในเรื่องกระทบเสถียรภาพและผลกระทบต่อเงินเฟ้อในทางอ้อม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image