มนพร เร่งขสมก. จัดหารถเมล์อีวี 2,013 คัน พัฒนา อู่บางเขน-มีนบุรี หารายได้เพิ่ม

‘มนพร’ สั่ง ขสมก. เร่งจัดหารถเมล์อีวี 2,013 คัน นำร่องเฟสแรก 224 คัน วงเงิน 900 ล. ตั้งเป้ารับรถใหม่ ม.ค.-มี.ค.67

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 กันยายน ที่สำนักงานใหญ่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันก่อตั้ง ขสมก. ครบรอบ 47 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 2566

นางมนพร เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสมาเยือน ขสมก. ในวันครบรอบ 47 ปี โดยได้เริ่มดำเนินโครงการราชรถยิ้ม รวมทั้งให้ ขสมก. หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เกี่ยวกับระบบการรักษาพยาบาลของพนักงาน ขสมก. เพื่อให้พนักงานไปใช้บริการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการของระบบ สปสช. สามารถเข้าการรักษาได้ทันที โดยไม่ต้องใช้เงินตนเองจ่ายก่อน แล้วมาเบิกค่าใช้จ่ายกับ ขสมก. ทีหลังเหมือนในปัจจุบัน เพราะพนักงานมีเงินเดือนน้อย และต้องมาสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล คาดเรื่องนี้เริ่มใช้ได้เดือนมกราคม 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพนักงาน และเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน หากทำได้ ขสมก. เป็นหน่วยงานรัฐสาหกิจแรกที่นำร่องเรื่องนี้

ทั้งนี้ เร่งรัดให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. ชุดใหม่ หลังจากบอร์ด ขสมก. ชุดเดิมหมดวาระไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้ว ขณะนี้ เข้าสู่กระบวนการสรรหาแล้ว คาดใช้เวลาประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นจะมีการขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (รถเมล์ไฟฟ้า) จำนวน 2,013 คันต่อไป

Advertisement

นางมนพร กล่าวต่อว่า ได้มอบให้ ขสมก. พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อู่รถเมล์บางเขน และ อู่มีนบุรี โดยให้เอกชนมาบริหารจัดการ เพื่อหารายได้เพิ่ม ตลอดจนใช้อู่รถเมล์ดังกล่าวเชื่อมต่อการเดินทางไปใช้รถไฟฟ้าสะดวก รวดเร็ว อย่างไรก็ตามคาดว่าแผนฟื้นฟูจะดำเนินการแล้วเสร็จในยุค นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ ขสมก.ลดภาระหนี้ หารายได้เพิ่ม ประชาชนได้รับบริการสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดฝุ่น PM 2.5 ปลอดภัย และค่าโดยสารที่เป็นธรรม

ด้าน นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนขับเคลื่อน ขสมก. หรือ แผนฟื้นฟู ขสมก. ปี 2566-70 ปัจจุบัน ขสมก. ได้ดำเนินการทำแผนแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรอเสนอ บอร์ด ขสมก. พิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในปี 2566 และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเห็นชอบต่อไป

Advertisement

นายกิตติกานต์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ขสมก. ตั้งเป้าจัดหารถเมล์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 2,500 คัน ซึ่งในจำนวนนี้จัดหารถเมล์ NGV จำนวน 489 คันได้แล้ว ทำให้เหลือ 2,013 คัน โดยรถเมล์ 2,013 คันนี้ จะใช้รูปแบบสัญญาเช่า แบ่งดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 รถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 224 คัน วงเงิน 900 ล้านบาท เช่า 2-3 ปี เพื่อนำมาบรรจุในเส้นทางที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างจัดร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดได้รับรถช่วงไตรมาสที่ 1/2567 ระยะที่ 2 รถเมล์ไฟฟ้า 1,020 คัน และระยะที่ 3 รถเมล์ไฟฟ้า 769 คัน อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล และสรุปวงเงิน คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ภายหลังตั้ง บอร์ด ขสมก. แล้วเสร็จ

ปัจจุบัน ขสมก. มีรถเมล์ 2,885 คัน 107 เส้นทาง แบ่งเป็นรถเมล์ร้อน 1,520 คัน รถเมล์แอร์ 1,365 คัน ผู้โดยสารใช้บริการ 700,000-800,000 คันต่อวัน มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 12,000 ล้านบาทต่อปี ค่าซ่อมบำรุงรักษา 1,600-2,000 ล้านบาทต่อปี และมีรายได้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ ขสมก. ยังขาดทุนอยู่ที่ 4,000 ล้านบาทต่อปี โดยในแต่ละปี ขสมก. จะดำเนินการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องใช้ดำเนินการในส่วนของรถเมล์ร้อน 8,000 ล้านบาทต่อปี และขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ (พีเอสโอ) วงเงิน 2,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ ขสมก. มีหนี้สะสมอยู่ที่ 140,000 ล้านบาท

นายกิตติกานต์ กล่าวอีกว่า เมื่อจัดหารถเมล์ใหม่ได้แล้ว ในส่วนรถเมล์ที่ให้บริการในปัจจุบัน ขสมก. กรณีรถเมล์ที่ใช้งานได้ถ้ามีงบประมาณ ขสมก. มีแผนปรับปรุงรถเมล์เก่าสภาพใหม่ เพื่อนำมาเป็นรถเสริมให้บริการ แต่ถ้ารถเมล์ใช้งานไม่ได้ต้องปลดระวาง ซึ่งการปลดระวางส่งผลให้ค่าเหมาซ่อมบำรุงรักษาถูกลง ขณะนี้มอบให้เขตการเดินรถทั้ง 8 เขต จัดหมวดหมู่รถเมล์ที่มีสภาพเก่าเตรียมพร้อมปลดระวาง เพื่อสอดรับแผนขับเคลื่อน ขสมก. ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image