ข้อน่าสนใจเรื่อง “อัตราว่างงาน” ของไทย

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เผยแพร่ดัชนีชี้สภาวะทางเศรษฐกิจที่ทางบลูมเบิร์กจัดทำขึ้นเป็นรายปี เรียกว่า “มิสเซอรี อินเด็กช์ 2016” ที่สำรวจจากดัชนีหลักๆ อย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อ แล้วก็ อัตราการว่างงาน แล้วนำมาจัดเรียงลำดับจากชาติที่สำรวจทั้งหมด 63 ประเทศ

ประเทศไหนที่ได้อันดับหนึ่งถือเป็นประเทศที่มีสภาวะทางเศรษฐกิจ “ขมขื่น” มากที่สุด

ส่วนประเทศที่อยู่ท้ายตารางก็เรียกได้ว่าเป็นชาติที่ “แฮปปี้” มากที่สุดในรอบปี 2015 ที่ผ่านมา

ประเทศที่ติดอันดับหนึ่งเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในเวลานี้ เป็นไปตามคาดหมาย นั่นคือ เวเนซุเอลา ชาติที่พึ่งพาสินค้าส่งออกเพียงอย่างเดียวคือน้ำมันดิบมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

เมื่อราคาน้ำมันต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ถูกที่สุดในรอบกว่าสิบปีอย่างนี้ ก็ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) พุ่งพรวดไปถึง 98.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา

และทางบลูมเบิร์กสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจออกมา คาดการณ์กันว่าในปีลิงปีนี้ ซีพีไอของเวเนซุเอลาจะพรวดขึ้นไปเป็น 152 เปอร์เซ็นต์

อัตราว่างงานที่นั่นอยู่ที่ 6.8 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 7.7 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

คะแนนเฉลี่ยในการจัดอันดับของเวเนซุเอลา อยู่ที่ 159.7 คะแนน มากกว่าอาร์เจนตินา ประเทศที่เศรษฐกิจขมขื่นมากเป็นอันดับ 2 อยู่ร่วมๆ 4 เท่าตัว และอยู่ห่างไกลมากจากประเทศที่มีความสุขกับเศรษฐกิจมากที่สุดในการจัดอันดับปี 2016 นี้ ซึ่งได้คะแนนเพียง 2.2 เท่านั้น

ที่เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ก็คือ บลูมเบิร์กบอกว่าประเทศที่ “แฮปปี้” มากที่สุดเมื่อวัดจากดัชนีชี้สภาวะเศรษฐกิจก็คือ ประเทศไทย ครับ

ไทยเฉือนสิงคโปร์ที่อยู่อันดับที่ 62 เล็กน้อย คือสิงคโปร์ได้ 2.6 คะแนน อันดับถัดมา เป็นประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ต่อด้วย ญี่ปุ่น ไต้หวันและเกาหลีใต้

ที่ทำให้น่าสนใจมากขึ้นไปอีกก็คือ บลูมเบิร์กให้เหตุผลเอาไว้ว่า เป็นเพราะอัตราการว่างงานของไทย ต่ำมาก เนื่องจากมี “ประเด็นเชิงโครงสร้างที่ไม่เหมือนใคร”

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำ แต่ไม่ได้ให้ตัวเลขเอาไว้

ผมลองควานหาตัวเลขออกมาดูยิ่งน่าทึ่งครับ อัตราเงินเฟ้อ 1.9 เปอร์เซ็นต์นั่นช่างเถอะ แต่อัตราว่างงานของประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่เพียงแค่ 0.65 เปอร์เซ็นต์นี่สิน่าคิด เพราะนั่นหมายความว่า ในจำนวนคนไทย 1,000 คนมีคนว่างงานอยู่แค่ 6-7 คนเท่านั้นเอง

แถมยังมีสถิติที่น่าสนใจอีกด้วยนั่นคือ อัตราการว่างงานของไทยเราทรงตัวอยู่ในระดับไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ติดต่อกันมา 4-5 ปีแล้ว

เรื่องนี้มีคำอธิบายอยู่ครับ คุณจิรเทพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา โฆษกของแบงก์ชาติ เคยให้เหตุผลเรื่องนี้เอาไว้กับบลูมเบิร์กหลายเหตุผลด้วยกัน

เหตุผลแรกสุดที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด นั่นคือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ของเรา “นิยาม” คนว่างงานแตกต่างจากที่อื่นๆ ครับ

นิยามที่ว่านี้จำเป็นต้องแตกต่างเพราะ “โครงสร้าง” ทางเศรษฐกิจของเราแตกต่างจากที่อื่นอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน นั่นคือเราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชากรมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ทำการเกษตรเป็นอาชีพ

ผลก็คือ เราจึงมีแรงงานประเภท “อันเดอร์เอ็มพลอยเมนต์” หรือที่ศัพท์ทางประชากรศาสตร์เรียกว่า “การทำงานต่ำระดับ” (อย่างเช่น จบปริญญาตรีแต่ไปทำนา ทำสวน เป็นต้น) กับ ผู้ที่ว่างงานตามฤดูกาล (ออฟ-ซีซั่น เอ็มพลอยเมนต์) ถูกนับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “คนที่มีงานทำ” เข้าไปด้วย

ตัวอย่างเช่น เราเคยทำงานเป็นพนักงานประจำเคาน์เตอร์ของแบงก์สักแห่ง แต่ต้องออกจากงาน กลับบ้านนอก แล้วไปช่วยทำงานในไร่นาของพ่อแม่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็น “คนมีงานทำ” แล้วครับ

เหตุผลอย่างที่ 2 ก็คือ ไทยเราไม่มีหลักประกันการว่างงาน เหมือนในหลายๆ ประเทศ ที่ “รัฐ” จะเลี้ยงคนว่างงานไประยะหนึ่ง ผลก็คือ คนไทยเราพ้นจากงานเมื่อใดก็ต้องเร่งหางานใหม่ทำ

อย่างที่ 3 ก็คือ อัตราการเกิดของไทยเราลดลงครับ อัตราการเกิดหรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่าอัตราเจริญพันธุ์ของไทยระหว่างปี 2010-2015 อยู่ที่เพียงแค่ 1.4 คนต่อสามีภรรยาคู่หนึ่งครับ นั่นทำให้แรงงานในตลาดแรงงานลดน้อยลง

อย่างที่ 4 ก็คือ เศรษฐกิจไทยเรามีภาคธุรกิจที่ถูกเรียกว่า ภาคธุรกิจอย่างไม่เป็นทางการ (อินฟอร์มอล เซ็กเตอร์) ที่รวมเอาทุกอย่างที่นอกเหนือจากกิจการที่เป็นทางการอื่นๆ ตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานไม่เต็มเวลา หรือทำงานส่วนตัว อย่างเช่น ขับจักรยานยนต์รับจ้าง หรือขายของทำนองหาบเร่แผงลอย ซึ่งว่ากันว่า คิดสัดส่วนเป็นจำนวนสูงถึง 64 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด

คนเหล่านี้ถูกถือว่าเป็น “คนมีงานทำ” เสียเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย

สุดท้าย ตำแหน่งงานที่เหลือของไทยนั้นถูกทดแทนด้วยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งว่ากันว่า มีอยู่ในไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน แล้วก็ส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตรวจสอบได้ยากมากว่า มีงานทำหรือว่างงาน

อัตราว่างงานของไทยเราถึงได้ต่ำมากๆ แล้วก็ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ “ขมขื่น” กับภาวะเศรษฐกิจน้อยที่สุดในโลก

เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นอีกเรื่องครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image