หัวเรือใหญ่ โนมูระฯ โฟกัสธุรกิจ “ตราสารหนี้” เสริมทัพหุ้นนิ่ง

ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา ธุรกิจค้าหลักทรัพย์คลุกฝุ่นตลบ ทั้งจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง การแย่งชิงบุคลากร และการหั่นค่าธรรมเนียม แต่สำหรับ “บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน)” หรือ CNS กลับยังคงเติบโตอย่างเงียบๆ โดยไม่สะท้านต่อการแข่งขันในสมรภูมิค้าหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้น

ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ผลประกอบการของ บล.โนมูระฯขยายตัวต่อเนื่อง โดยรายได้ปี 2557 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,640.50 ล้านบาท จากระดับ 1,598.18 ล้านบาท และ 1,115.24 ล้านบาท ในปี 2556 และ 2555 ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิปี 2557 อยู่ที่ 425.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่อยู่ราว 394.04 ล้านบาท และปี 2555 ที่อยู่ 187.99 ล้านบาท

9 เดือนปี′58 โกยกำไรโต 22%

“สุเทพ พีตกานนท์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์โนมูระฯ เผยว่า ธุรกิจปี 2558 ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยจะเห็นได้จากผลประกอบการงวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.2558) ของปีที่ผ่านมา ตุนรายได้ไว้แล้ว 1,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 209 ล้านบาท หรือ 19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรสุทธิอยู่ที่ 338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60 ล้านบาท หรือเติบโต 22% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทได้กระจายรายได้ออกไปหลายส่วน อาทิ รายได้จากค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์ รายได้จากค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย รายได้จากการถือครองตราสารหนี้ การค้าตราสารหนี้ การบริหารทรัพย์สินของลูกค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนของปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นตามมูลค่าการซื้อขาย จากปริมาณการซื้อขาย (วอลุ่ม) ในตลาดหุ้นเฉลี่ยวันละ 41,000 ล้านบาท สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีวอลุ่มอยู่ที่ 38,000 ล้านบาท วอลุ่มที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ต แชร์) ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.85%

Advertisement

ขณะเดียวกันบริษัทยังสามารถกุมหัวใจนักลงทุนรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทหลักในการซื้อขายมากที่สุดในตลาดโดยปีที่ผ่านมาบริษัทมีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยอยู่ราว69%นักลงทุนสถาบันในประเทศ11% และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 19% ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เมื่อเทียบกับปี 2557

ปั้นรายได้ค่าธรรมเนียม-ดอกเบี้ย

แหล่งรายได้ลำดับต่อมาคือรายได้จากค่าธรรมเนียมและรายได้ดอกเบี้ยของ3ธุรกรรมที่ขยายตัวดีได้แก่ รายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมามีรายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2558 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่บริษัทปล่อยมาร์จิ้นโลนให้ลูกค้า อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปี 2558 ยอดมาร์จิ้นโลนได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท ตามสภาวะแนวโน้มการซื้อขายที่ทยอยลดลงมาเรื่อยๆ

อีกด้านบริษัทยังมีรายได้ดอกเบี้ยที่มาจากการถือครองตราสารหนี้ ในฐานะที่เป็นตัวกลางทำธุรกรรมค้าตราสารหนี้ จึงต้องมีการถือครองตราสาร ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากดอกเบี้ยได้

Advertisement

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีกำไรจากการค้าตราสารหนี้และรายได้ดอกเบี้ยจากการบริหารทรัพย์สินของลูกค้าเข้ามาเสริม โดยมีรายได้จากธุรกิจค้าตราสารหนี้ 68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 74.35% ส่งผลให้ผลประกอบการงวด 9 เดือนของปีที่ผ่านมาดีกว่างวดเดียวกันของปี 2557 แต่เนื่องจากช่วงต้นปี 2559 นี้บริษัทยังไม่ประกาศผลดำเนินงานปี 2558 และยังอยู่ระหว่างการทำแผนปี 2559 จึงยังไม่สามารถประเมินรายได้หรือมาร์เก็ตแชร์ได้

ขณะที่ “สุเทพ” ก็บอกว่า กำไรของบริษัทก็อย่างที่เห็น คือเติบโตต่อเนื่องทุกปี ส่วนปี 2559 การเติบโตยังเป็นสไตล์ “สร้างสรรค์อุตสาหกรรมการลงทุน” เน้นการบริการด้านการลงทุนและมีผลิตภัณฑ์ครบวงจร เพื่อให้นักลงทุนสามารถจัดสรรสินทรัพย์ด้านการลงทุน (Asset Allocation) ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการสร้างผลตอบแทน ผ่านสินค้าด้านการลงทุนที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน (B/E) ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง

ลุ้นขึ้นแท่นเบอร์ 1 ค้าบอนด์

เป้าหมายปี 2559 บริษัทจะสร้างความแข็งแกร่งของรายได้ โดยเน้น “ธุรกิจตราสารหนี้” มากขึ้น และมีความพยายามสร้างความเป็นหนึ่งในด้านการเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายทั้งในหุ้นกู้และ B/E สูงสุดในกลุ่มธุรกิจนี้ โดยเมื่อปี 2558 บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดหุ้นกู้อยู่ที่ 11.57% หรือเป็นอันดับ 2 ของตลาด ส่วน B/E อยู่ที่ 20.78% เป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมธุรกิจค้าหลักทรัพย์

“ตราสารหนี้เป็นสินค้าสำคัญในการทำ Asset Allocation ของนักลงทุน ยิ่งตอนนี้ก็อยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ตลาดหุ้นก็ไม่ดี นักลงทุนจึงหาที่กระจายการลงทุนไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงลดลง แต่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ตราสารหนี้จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจ และคาดว่าปีนี้ยังจะได้รับความสนใจที่ดีเช่นกัน” สุเทพกล่าว

ยกศักยภาพบุคลากรดันธุรกิจโต

ขณะเดียวกันยังวางกลยุทธ์สู่เป้าหมายการเป็นบริษัทที่ช่วยนักลงทุนในด้าน”จัดการสินทรัพย์”ด้วยการผลักดันให้เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาการลงทุน(มาร์เก็ตติ้ง)สอบใบอนุญาตด้านการวางแผนการลงทุน (Investment Planer) เพิ่มเติม จากเดิมที่มาร์เก็ตติ้งมีเพียงใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ (Single License) และใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative License) โดยคาดว่า มาร์เก็ตติ้งทั้ง 300 รายที่บริษัทมีอยู่จะได้รับใบอนุญาตเป็น Investment Planer ภายในปีนี้

ส่วนของบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ ปีนี้บริษัทจะขยายไปสู่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น เพราะพบว่านักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจในหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนจะเปิดรับนักวิเคราะห์ด้านนี้เพิ่มเติมอีก 1-2 คน จากปัจจุบันมีทั้งสิ้น 28 คน แบ่งเป็นนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน นักวิเคราะห์เทคนิค ทีมกลยุทธ์ และทีมเศรษฐกิจ

เป็นการบริหารธุรกิจค้าหลักทรัพย์สไตล์ “โนมูระฯ” ที่อาจไม่หวือหวา แต่มีตัวเลขชี้ชัดในบรรทัดสุดท้ายว่ามีกำไรติดต่อกันหลายปี แม้ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยจะผันผวนและซึมหนักมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image