หอการค้า แนะรบ. แจกเงินเฉพาะกลุ่ม ชี้ข้อดีรัศมี 4 กิโล หมุนเงินได้ดีกว่า แจกแบบประยุทธ์

หอการค้า แนะรบ.ทบทวน แจกเงินเฉพาะกลุ่ม ชี้ข้อดีรัศมี 4 กิโล หมุนเงินได้ดีกว่า แจกแบบประยุทธ์ 

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงมาตรการของรัฐบาลที่จะแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (digital Wallet) โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ว่า ตามที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพ หรือมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 5-6% โดยที่ไม่เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ จากนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ผ่านการใช้งบประมาณมูลค่ารวมกว่า 5.6 แสนล้านบาท โดยผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขึ้นอยู่กับตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) หรือจำนวนการหมุนของเงินในระบบว่าเกิดขึ้นกี่รอบ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จากการประเมินกรณีที่ไม่มีปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในปี 2567 และมีการเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจที่ 5.6 แสนล้านบาท เบื้องต้นได้ทำสมมติฐาน ถ้าจำนวนการหมุนเวียนที่ 1-3 รอบ จะเกิดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจถึง 1.6 ล้านล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีโตเพิ่มขึ้นได้อีก 1.14-3.30% หรือสนับสนุนให้จีดีพีโตตามศักยภาพถึง 4-5% ในปี 2567 เป็นไปตามตามเป้าหมายของรัฐ

อย่างไรก็ตาม การทำนโยบายอาจเกิดผลข้างเคียงทำให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งนโยบายทางการเงิน จะไปหักล้างผลการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการคลัง หรือส่งผลต่อประสิทธิภาพของการใช้จ่ายประชาชน

Advertisement

นอกจากนี้ จากการศึกษางานวิจัยสรุปได้ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการโอนเงินหรือแจกเงิน โดยผลต่อจำนวนการหมุนเวียนของเงินที่ใส่ในระบบมีค่าไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายของรัฐในการทำโครงการลงทุนต่างๆ ที่ทำให้เกิดการจ้างงาน ผลผลิต หรือเกิดโครงสร้างพื้นฐาน (กรณีที่ไม่มีการทุจริตรั่วไหล) อีกทั้งการทำนโยบายนี้ ต้องมองถึงค่าเสียโอกาสในการเอาเงินไปลงทุนด้านต่างๆด้วย ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้รัฐทบทวนการใช้เงิน โดยการแจกเงินคนทั้งหมดยังไม่จำเป็น รัฐควรจำกัดเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย (คนจน) และคนชั้นกลางที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือน

“การหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจจะมากหรือน้อยอย่างไรอยู่ที่วิธีการออกแบบการแจกเงิน แต่ด้วยพื้นฐานการแจกเงินด้วยวิธีการของรัฐบาลเศรษฐา มีผลต่อการหมุนของเงินมากกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะการออกแบบ เช่น การกำหนดเงื่อนไขในรัศมี 4 กิโลเมตร ทำให้เม็ดเงินกระจายลงร้านค้าขนาดเล็กที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนมากขึ้น” นายอนุสรณ์กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับการทำนโยบายด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน และการที่ไม่ใช้โครงสร้างที่มีอยู่ เพราะเทคโนโลยีนี้สามารถใช้ได้ในหลากหลายธุรกรรม ถ้ารัฐต้องใช้งบประมาณในการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานของบล็อกเชนจะต้องคิดมากกว่าการแจกเงิน ซึ่งการแจกเงินเป็นการเริ่มต้นเรื่องการทดสอบระบบในด้านการเงิน แต่นโยบายมีเงื่อนไข เช่น การแจกเงินให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป และจำกัดใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขก็เป็นจุดแข็งของบล็อกเชนที่สามารถออกแบบโปรแกรมให้สามารถตอบสนองนโยบายนี้ได้

Advertisement

นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถใช้ในระบบการทำงานของภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (government services) รวมถึงระบบการเลือกตั้งก็สามารถนำมาใช้ได้ หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปถึงจุดหนึ่งแล้วจะเกิดประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) คือ รูปแบบการปกครองที่ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองได้โดยตรง

“เช่น รัฐบาลอยากขอความคิดเห็นจากประชาชนก็สามารถทำได้ผ่านโครงสร้างนี้ อีกทั้งยังมีผลต่อระบบการค้า ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรม หรือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งเป็นสิ่งเป็นประโยชน์ในอนาคต”นายอนุสรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image