นักวิชาการห่วง! แจกเงินดิจิทัลเสี่ยงหนี้พุ่ง เครดิตเสีย จี้รัฐตอบที่มาเงิน-ค้าน ม.28

นักวิชาการห่วง! แจกเงินดิจิทัลเสี่ยงหนี้พุ่ง เครดิตเสีย จี้รัฐตอบที่มาเงิน-ค้าน ม.28

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ เปิดเผยว่า โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นการโต้แย้งความมีเหตุผลในทางเศรษฐกิจกับเรื่องความได้เปรียบในเชิงการเมือง ซึ่งนักวิชาการ กับรัฐบาลต่างยืนคนมุมมอง ยิ่งรัฐบาลให้สัญญากับประชาชน และต่อรัฐสภาแล้วก็ยิ่งไม่มีทางเปลี่ยนนโยบายแน่นอน ในแง่หนึ่งที่รัฐบาลพูดไว้ถูกต้อง ที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยนั้นมีอัตราการขยายตัวช้า เห็นด้วย เพราะแม้ขณะนี้เศรษฐกิจไทยจะขาขึ้น แต่ในขาขึ้นปีแรก หรือปี 2566 นั้นการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในไตรมาส 1 ปี 2566 ก็ขยายตัวเพียง 2.2% และจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2566 ก็ขยายตัวเพียง 1.8% จะเห็นได้ว่าขยายตัวจริง แต่ช้ากว่าที่คาดการณ์ ดังนั้นต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด

โดยที่สำคัญกว่านั้น คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังจะออกนั้น บังเอิญมีความเสี่ยงอยู่ในนั้น คือ ในการกระตุ้นนั้น แม้รัฐบาลยืนยันว่าจะทำให้ จีดีพีโต 4-5% ได้ แล้วจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอีกมากมาย แต่ก็ต้องระวัง เพราะการกระตุ้นนนี้ยืนอยู่บนรอยต่อเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้รัฐบาลมีหนี้สาธารณะเกิน 60% ต่อจีดีพี โดยช่วงโควิดที่ผ่านมาบางประเทศสร้างหนี้สาธารณะไปเกิน 100% แต่ในตอนนี้โควิดได้จบแล้ว ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องหาทางลดหนี้สาธารณะลง

ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังทำโครงการ เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น คาดว่าใช้เม็ดเงินราว 5.6 แสนล้านบาท เท่ากับ 4% ของจีดีพี ถ้าคำนวณง่ายๆจะทำให้หนี้สาธารณะกลายเป็น 64% ต่อจีดีพี ซึ่งตัวเลขนั้นไม่ได้อันตราย แต่สิ่งที่อันตรายคือ การรับรู้ที่มาของตัวเลข 64% ที่จะส่งผลต่อการจัดอันดับ เพราะบริษัทจัดอันดับต่างต้องการคำตอบว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะลดหนี้หรือไม่ มีนโยบายหารายได้อย่างไร นอกจากนี้ อย่าลืมว่ารัฐบาลยังมีรายจ่ายที่มากกว่า 5.6 แสนบาทด้วย บริษัทจัดอันดับหรือนักลงทุนจึงกังวล รายจ่ายจากที่อื่นๆ จะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งหลายประเทศเมื่อหนี้ขึ้นไปแล้ว จะลดลงได้ยากมาก

Advertisement

“เมื่อหลายคนเห็นหนี้ที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีความชัดเจนในแผนการที่จะลดหนี้ การรับรู้ของคนจะรู้สึกว่า ชักจะไม่ค่อยน่าไว้ใจเท่าไหร่ สิ่งที่จะมาดูต่อคือเงินเฟ้อจากมาตรการซึ่งทำให้เห็นตัวเลขที่มีผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยที่มีการขยับ เขาก็จะมาจับตามองกัน การรับรู้ในมุมที่ไม่ไว้วางใจต่อเสถียรภาพยิ่งเยอะ ก็ยิ่งมีผลต่อเครดิตเรทติ้งของประเทศ” นายสมชาย กล่าว

รวมไปถึงอีกสิ่งที่ยังไม่แน่นอน คือ เรื่องของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลแน่ใจได้แล้วหรือว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยโตได้ 4-5% แต่หนี้สาธารณะก็เพิ่มเช่นกัน ในมุมมองของนักลงทุน ขณะเดียวกันงบประมาณรัฐบาลเป็นงบลงทุน 20% อีกส่วนคือแทบจะเป็นงบรายจ่ายประจำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นอีกตัวชี้วัดการลงทุน และถ้าบังเอิญโชคร้าย การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2567 คาดว่าจะเป็นบวกต้องเจอกับความไม่แน่ของเศรษฐกิจโลก ปัญหาความขัดแย้ง เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบ อาจทำให้ขาดดุล และตัวเลขหนี้สาธารณธอาจจะพุ่งขึ้นไปอีก อาจจะเกิน 70% ได้

ดังนั้น รัฐบาลต้องตอบคำถามที่มาของเงินให้ได้ ถ้าไม่ใช้งบประมาณ ก็จะโอเค แต่ไม่ใช่ว่าใช้เงินนอกงบประมาณ อย่างเงินตามกรอบ มาตรา 28 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ถึงจะเป็นเงินที่ไม่โผล่ในหนี้สาธารณะ แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่ และต้องไปกู้มาปิด ก็จะมาโผล่ในงบประมาณทันที เพราะฉะนั้น คนถึงค้านการใช้เงินนอกงบประมาณ เพราะมันจะไม่โผล่มาในบัญชีงบ ส่วนที่รัฐบาลบอกว่าจะไม่ใช่งบ ไม่ใช่เงินกู้นั้น ก็ตอบไม่ได้ว่าทำได้จริงหรือไม่ เพราะว่าเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการเยอะมาก

Advertisement

“ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลจะต้องทำการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ได้ ต้องรอดูว่าจะจะบริหารได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้อย่าลืมว่ารัฐบาลมีอีกหลายโครงการที่ยังไม่ได้ทำ และต้องใช้เงินด้วยเช่นกัน และนักลงทุนต่างจับตามอง ดังนั้นจะเป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้น โดยที่ไม่มีความเสี่ยง” นายสมชาย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image