คลัง ร่วมกับ มหาดไทย ประเมินผลภาษีที่ดิน อปท. สูญรายได้ปี66 กว่า 6.2 พันลบ.

คลัง ร่วมกับ มหาดไทย ประเมินผล พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน มาตรการลดภาษีที่ดินปี 66 ทำอปท.สูญรายได้ 6.2 พันล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้มีการประสานงานร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ รวมถึงติดตามปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง. พ.ศ.2562 เพื่อดำเนินการตามพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย

นายพรชัย กล่าวว่า ทั้งนี้การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอย่างน้อยทุก 5 ปี นับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นประกอบการ เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือความคิดเห็นจากผู้ซึ่งมีสิทธิหรือหน้าที่หรือได้รับผลกระทบที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

นายพรชัย กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการพิจารณาแบบสอบถามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ ในการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปี 2563 แต่ในตัวกฎหมายกำหนดให้มีส่วนลดหย่อนทางภาษีใน 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีตัวนี้ คือ ตั้งแต่ปี 2563-2565 เพื่อบรรเทาภาระภาษี ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากการยกเลิกภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่ใช้มานานและไม่ทันสมัย หันมาใช้ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน

Advertisement

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุอีกว่า จากมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาลในปี 2563 และ 2564 ส่งผล ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งเป็นผู้จัดเก็บรายได้จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้สูญเสียรายได้จำนวนประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท และ 3.08 หมื่นล้านบาทตามลำดับ โดย อปท. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีที่ดินฯ) ในปีภาษี 2563 แล้ว จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท

สำหรับปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีนโยบายลดภาษีที่ดินฯ ให้แก่ผู้เสียภาษีการจัดเก็บภาษีที่ดินของปีภาษี 2566 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และลดภาระให้กับประชาชนจากการเพิ่มขึ้นของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในปี 2566 ทั้งนี้ คาดว่า จะทำให้อปท. สูญเสียรายได้ภาษีที่ดินฯ ประมาณ 6,288 ล้านบาท จากประมาณการจัดเก็บรายได้ ภาษีที่ดินฯ ในปี 2566 จำนวน 4.36 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการจัดเก็บภาษี บน ราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์ โดยอัตราภาษี จะเก็บเป็นอัตราขั้นบันใด ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแยกประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตร มีอัตราภาษีตั้งแต่ 0.01-0.1% โดยยกเว้นภาษี ให้กับที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และในสามปีแรกของการจัดเก็บภาษีนี้ (2563-2565) ในกรณีเป็นที่ดินเกษตรของบุคคลธรรมดาไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ต้องมีภาระภาษี

Advertisement

2.ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย มีอัตราตั้งแต่ 0.02 – 0.1% กรณีเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเป็นบ้านหลังหลักของคนๆนั้น (มีชื่อเป็นเจ้าของและมีชื่อในทะเบียนบ้านหลัง) ที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี และ 3.ที่ดินประเภทอื่นๆ (พาณิชย์ อุตสาหกรรม และที่รกร้างว่างเปล่า) มีอัตราภาษีตั้งแต่ 0.3 – 0.7% เฉพาะที่ดินรกร้างงว่างเปล่า จะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 0.3 % ในทุกๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมจะต้องไม่เกิน 3%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image