ส่อง ‘แลนด์บริดจ์ใต้’ เมกะโปรเจ็กต์ 1 ล้านล. สำคัญตรงไหน!

ส่อง ‘แลนด์บริดจ์ใต้’ เมกะโปรเจ็กต์ 1 ล้านล. สำคัญตรงไหน!

ในห้วงที่ผ่านมาเกิดกระแสดราม่า ในสังคมออนไลน์ กรณีที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ไม่เอาโครงการแลนด์บริดจ์ใต้ หรือ “โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย” หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างท่าเรือ 2 ฝั่งทะเลอันดามันที่ระนอง และฝั่งอ่าวไทยที่ชุมพร โดยมีเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมต่อทั้งทางหลวงระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และการขนส่งทางท่อ หรือท่อน้ำมันนั่นเองด้วยโครงการมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท โดยโครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ ภาคใต้ตอนบน 4 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาได้พยายามผลักดันโครงการดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor : SEC) เพื่อเชื่อมต่อกับการขนส่งและคมนาคมของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่กำลังปลุกปั้นให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ.2560-2564) เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

จนกระทั่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้ทำการศึกษาเรื่องแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการที่จะเชื่อมต่อโลจิสติกส์ทั้งหมดของทั่วโลกได้ ซึ่งเป็นการให้ความมั่นใจของต่างชาติที่จะมาลงทุนและสร้างโรงงานต่างๆ ในประเทศไทย อันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ ครม.ได้เห็นชอบให้สามารถทำการศึกษาต่อได้

Advertisement

เป็นการสยบข่าวลือรัฐบาลไม่เอาโครงการแลนด์บริดจ์ใต้ได้อย่างฉมังเลยทีเดียว เพราะงานนี้ “นายกฯเศรษฐา” แถลงข่าวด้วยตัวเอง

จริงๆแล้ว “แลนด์บริดจ์” หรือ “สะพานเศรษฐกิจ” ไม่ใช่โครงการใหม่ที่ริเริ่มในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ แต่โครงการดังกล่าวถูกผลักดันผ่านรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยในอดีต ตั้งแต่ปี 2532 สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีจากหลายสาเหตุและหลายปัจจุบัน และพื้นที่โครงการมีการขยับขึ้นลงบ้างตามความเหมาะสม เพราะเป็นที่รู้กันว่าภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และที่สำคัญเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับโลก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จจากหลายปัจจัย

ทั้งนี้ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง จะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งทะเล และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้แนวคิด One Port Two Side และการพัฒนาพื้นที่หลังท่าด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งทางสนข.ได้มีการคัดเลือกจุดก่อสร้างท่าเรือทั้งสองฝั่ง คือ บริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง ที่สามารถรองรับตู้สินค้าได้ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู

Advertisement

โดยท่าเรือฝั่งชุมพรจะมีพื้นที่ถมทะเลประมาณ 5,808 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ท่าเทียบเรือ 4,788 ไร่และพื้นที่พัฒนาอเนกประสงค์ 1,020 ไร่ ส่วนท่าเรือฝั่งระนอง จะมีพื้นที่ถมทะเลประมาณ 6,975 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ท่าเทียบเรือ 5,633 ไร่ และพื้นที่อเนกประสงค์ 1,342 ไร่ตามลำดับ

ส่วนระบบเส้นทางเชื่อมโยงมีระยะทาง 93.9 กิโลเมตร (บนบก 89.35 กิโลเมตร และในทะเลสู่ท่าเรือระนอง 2.15 กิโลเมตร และสู่ท่าเรือชุมพร 2.48 กิโลเมตร) ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) รองรับการขนส่งสินค้า และรางขนาด 1 เมตร เพื่อเชื่อมการเดินทางขนส่งของประเทศอีกด้วย โดยมีรูปแบบทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้นและอุโมงค์ 3 แห่ง

ผลการศึกษาเบื้องต้นประมาณมูลค่าการลงทุนในการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ไว้ 1.001 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การก่อสร้างท่าเรือ 636,477 ล้านบาท (ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท, ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท) การพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) ทั้งสองฝั่งมีมูลค่าลงทุนรวม 141,103 ล้านบาท และโครงการทางหลวงระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ รวม 223,626 ล้านบาท

ส่วนการพัฒนาโครงการจะแบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ หรือ 4เฟส โดยเฟสแรก เป็นการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพรรองรับตู้สินค้า 4 ล้านทีอียู และท่าเรือฝั่งระนอง รองรับ 6 ล้านทีอียู มอเตอร์เวย์ 4 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่  และอีก 3 เฟสที่เหลือ จะเป็นการขยายท่าเรือ 2 ฝั่งและพื้นที่ SRTO ให้รองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นจนครบ 20 ล้านทีอียู รวมทั้งขยายมอเตอร์เวย์เป็น 6 ช่องจราจร

ด้วยการที่รัฐบาลตั้งเป้าจะให้แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนองเป็นจุดศูนย์กลางขนส่งสินค้าและเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก โดยมีแรงจูงใจสำคัญที่จะให้มีผู้มาใช้บริการ คือ สามารถลดระยะเวลาขนส่งสินค้าทางเรือจากเส้นทางช่องแคบมะลากาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน เป็นทางเลือกการขอส่งสินค้าแบบถ่ายลำ (Transshipment) ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก หมายถึง นำสินค้าจากเรือมาขึ้นรถบรรทุกหรือรถไฟแล้วขนไปลงเรือที่ท่าเรืออีกฝั่งหนึ่ง และเกิดอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) ซึ่งจะมีการตั้งเขตเศรษฐกิจเสรีเพื่อดึงดูดนักลงทุนมาพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือและจะทำให้เกิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามมา ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในภาคใต้ต่อไป

และหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ประเทศไทยจะได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาหาศาล โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งน้ำมัน ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้ไทยเป็นทางเลือกที่น่าสนใจแทนสิงคโปร์ได้เลยทีเดียว!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image