ลุ้น 3 ปัจจัยชี้ชะตา โค้งสุดท้าย ‘ส่งออกไทย’

ลุ้น 3 ปัจจัยชี้ชะตา โค้งสุดท้าย ‘ส่งออกไทย’

หมายเหตุ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2566 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 พร้อมกับประเมินสถานการณ์ส่งออกโค้งสุดท้ายของปี 2566 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม

การส่งออกของไทยเดือนกันยายน 2566 มีมูลค่า 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.1% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 1% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 23,383.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 8.3% และไทยเกินดุลการค้า 2,092.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาพรวม 9 เดือนแรก 2566 ไทยส่งออกมีมูลค่ารวม 213,069.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 218,902.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6% และขาดดุลการค้า 9 เดือนแรก 5,832.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisement

คิดเป็นรูปเงินบาท เดือนกันยายน 2566 การส่งออก มีมูลค่า 888,666 ล้านบาท หดตัว 0.1% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 825,310 ล้านบาท หดตัว 10.2% ดุลการค้า เกินดุล 63,355 ล้านบาท ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่ารวม 7,268,400 ล้านบาท หดตัว 3.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 7,558,144 ล้านบาท หดตัว 5.9% และขาดดุลการค้า 9 เดือน 289,744 ล้านบาท

หากแยกกลุ่มสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนกันยายน ขยายตัว 12% พลิกกลับมาขยายตัวรอบ 5 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 17.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 5.4% พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 166.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน โดยขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐ เวียดนาม และฮ่องกง ข้าว ขยายตัว 51.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐ มาเลเซีย และเบนิน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 3.7% กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้

น้ำตาลทราย ขยายตัว 16.3% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน โดยขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม ไต้หวัน และสิงคโปร์ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัว 12.8% กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน โดยขยายตัวในตลาดอินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์ สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัว 27.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัว 17.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน โดยขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐ จีน เกาหลี และออสเตรเลีย นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัว 3.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน โดยขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม เมียนมา และอียิปต์ ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 7.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐ กัมพูชา และเมียนมา ไข่ไก่สด ขยายตัว 52.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน โดยขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ไต้หวัน มัลดีฟส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

Advertisement

ด้านสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัว 12% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ จีน และอาร์เจนตินา ยางพารา หดตัว 30.3% หดตัวต่อเนื่อง 14 เดือน ในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดตุรกี ฝรั่งเศส กัมพูชา โรมาเนีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไก่แปรรูป หดตัว 11.2% หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน ในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และไอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ แคนาดา ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และฝรั่งเศส

อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัว 7.9% หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน ในตลาดสหรัฐ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเยอรมนี แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อิตาลี อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหราชอาณาจักร ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัว 3.9% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน ในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดจีน เนเธอร์แลนด์ ลาว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเมียนมา ทั้งนี้ 9 เดือนแรก 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 2%

สำหรับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกันยายน ส่งออกกลับมาหดตัว 0.3% แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 3.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 27.3% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ในตลาดฮ่องกง อิตาลี สหราชอาณาจักร เบลเยียม และญี่ปุ่น เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 23.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน ในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเม็กซิโก

หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัว 46.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 23 เดือนในตลาดสหรัฐ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน อิตาลี และญี่ปุ่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัว 28.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน ในตลาดสหรัฐ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเม็กซิโก

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 24.3% หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน ในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดจีน ออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน และเวียดนาม ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัว 5.5% หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน ในตลาดจีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และอินเดีย

เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัว 27.7% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน ในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐ เวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัว 34.6% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือนในตลาดจีน สหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และเบลเยียม แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อิตาลี อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ และเยอรมนี ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม หดตัว 15.8% หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือนในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เมียนมา และไต้หวัน ทั้งนี้ 9 เดือนแรกปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 3.7%

ในด้านตลาดส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีน และการกลับมาขยายตัวในรอบหลายเดือนของตลาดอาเซียน (5) และเอเชียใต้ แต่หลายตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน จากปัจจัยกดดันของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปตลาดต่างๆ ดังนี้ ตลาดหลัก หดตัว 4.2% โดยกลับมาหดตัวในตลาดสหรัฐ และญี่ปุ่น หดตัว 10% และ 5% ตามลำดับ และหดตัวต่อเนื่องในตลาด CLMV และสหภาพยุโรป (27) 18.1% และ 9.3% ตามลำดับ

ขณะที่ขยายตัวในตลาดจีนและอาเซียน (5) 14.4% และ 4.1% ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 10.5% โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ 7.8% แอฟริกา 23% ลาตินอเมริกา 4.6% และรัสเซียและกลุ่ม CIS 33.9% ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และสหราชอาณาจักร หดตัว 11.8% 5.9% และ 15% ตามลำดับ ตลาดอื่นๆ ขยายตัว 423.6% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 749.8% ตลาดสหรัฐ หดตัว 10% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 1.2% ตลาดจีน ขยายตัว 14.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ทำให้ 9 เดือนแรกหดตัว 1.3% ตลาดญี่ปุ่น กลับมาหดตัว 5% 9 เดือนขยายตัว 0.1% ตลาดสหภาพยุโรป (27) หดตัว 9.3% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน 9 เดือนหดตัว 4.7% ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัว 4.1% กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน 9 เดือนแรกหดตัว 6.9% ตลาด CLMV หดตัว 18.1% หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน 9 เดือนหดตัว 16.2%

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 7.8% กลับมาขยายตัวในรอบ 14 เดือน 9 เดือนหดตัว 10.6% ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัว 11.8 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน 9 เดือนแรกหดตัว 0.8% ตลาดตะวันออกกลาง หดตัว 5.9% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน 9 เดือน ขยายตัว 1.9% ตลาดแอฟริกา ขยายตัว 23% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน 9 เดือนขยายตัว 3.1% ตลาดลาตินอเมริกา กลับมาขยายตัว 4.6% 9 เดือนหดตัว 2.1% ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 33.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน 9 เดือนขยายตัว 39% ตลาดสหราชอาณาจักร หดตัว 15% กลับมาหดตัวในรอบ 7 เดือน 9 เดือนขยายตัว 7.2%

แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในไตรมาส 4 ของปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ที่ต่างออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอุปสรรคด้านห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงจากปีก่อนหน้าที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 ขณะที่กระแสความมั่นคงทางอาหาร และแรงส่งจากภาคบริการและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปลายปีจะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารที่ไทยมีศักยภาพ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตได้ตามเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานสะอาด

โดยกระทรวงพาณิชย์ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและเดินหน้าเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ๆ จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งอาจขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าของโลกในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตโลกเดือนนี้ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว การฟื้นตัวของตลาดหลักยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง จากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนาน ชะลออุปสงค์ทั่วโลก

ปัจจัยหนุนส่งออกใน 2 เดือนที่เหลือปีนี้ ขึ้นกับ 3 ปัจจัย คือ ความร่วมมือรัฐและเอกชนในการแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ 2.ภัยแล้ง ทำให้หลายประเทศเร่งนำเข้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ป้องกันปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 3.แรงหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโตมีทิศทางมากขึ้นรับปีใหม่ 2567

ส่วนปัจจัยท้าทาย ที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ ค่าเงินบาท เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง กดดันอุปสงค์ประเทศคู่ค้า รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะเปลี่ยนไปหลังเกิดสงคราม เป็นเรื่องที่น่ากังวลในอนาคต แม้สงครามอิสราเอล-ฮามาสไม่ได้กระทบต่อส่งออกโดยรวม เพราะไปอิสราเอลประมาณ 0.023% ของส่งออกรวม แต่อาจมีผลทางจิตวิทยาการนำเข้าในตะวันออกกลาง และประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตัวเลขการส่งออกในเดือนกันยายนของหลายประเทศ พบว่า นอกจากไทยและเวียดนาม กลับมาเป็นบวกแล้ว ประเทศอื่นๆ ก็ติดลบในอัตราลดลง เพราะเพิ่มนำเข้าไปสต๊อกเพื่อปลายปี

ดังนั้น แนวโน้มส่งออกจากนี้จะเป็นบวก หรือทั้งปีน่าจะติดลบน้อยลงจากที่หลายฝ่ายคาดไว้

หาก 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ มูลค่าส่งออกเฉลี่ย 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ก็จะทำให้ทั้งปี 2566 ติดลบน้อยลง ไม่ถึง 1% ซึ่งหากเฉลี่ยต่อเดือนส่งออก 24,785 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกทั้งปีนี้จะเป็น 0% หากมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือน 23,827 ล้านเหรียญสหรัฐ จะติดลบ 1% หากเฉลี่ยเดือนละ 25,743 ล้านเหรียญสหรัฐ จะบวก 1% แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าทำงานส่งออกปีนี้ไว้บวก 1%

ขณะนี้ทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด กำลังจัดทำสถานการณ์และแผนงานเพื่อนำเสนอกระทรวง และมีประชุมในวันที่ 3 พฤศจิกายน และ 10 พฤศจิกายนอีกครั้ง เพื่อให้เห็นภาพการส่งออกและแนวทางผลักดันการส่งออกปี 2567 สำหรับสงครามอิสราเอล ก็มีการติดตามใกล้ชิด และได้เตรียมแผนรับมือที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลภาคเอกชนมาตลอด

**********

ชัยชาญ เจริญสุข
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

เดิม สรท.ประเมินว่าส่งออกกันยายน ไม่น่าจะบวก แต่ก็บวกได้ เพราะรัฐและเอกชนร่วมกันแก้ปัญหา เช่น เรื่องส่งออกรถยนต์ อีกทั้งการขนส่งทางทะเล ยังไม่มีอะไรติดขัด สงครามอิสราเอล-ฮามาส ยังไม่มีผลกระทบต่อการขนส่งทางทะเล อีกทั้งฐานส่งออกปีก่อนช่วงปลายปีต่ำ เนื่องจากปีก่อนติดเรื่องขาดแคลนชิปเพื่อผลิตรถยนต์ โดยช่วง 2 เดือนที่่ผ่านมามีคำสั่งซื้อล่วงหน้ามาต่อเนื่อง และจะเร่งส่งมอบให้ทันพฤศจิกายน ตอนนี้เส้นทางขนส่งทางเรือยังปกติ ตู้คอนเทนเนอร์ไม่ขาดแคลน การค้ายังถือว่าปกติ และเชื่อว่าเหตุรุนแรงอิสราเอลไม่ลุกลามเป็นวงกว้าง แต่ที่ต้องกัวลคือ ต้นทุนค่าขนส่ง อาจสูงขึ้นจากราคาพลังงานและการประกันความเสี่ยงภัยสงคราม จะมีผลต่อค่าระวางสูงขึ้นจากนี้ประมาณ 10% ดังนั้น เมื่อดูสัญญาณส่งออกจากนี้ดูว่ายังดีกว่าคาด สรท.จึงคาดการณ์ส่งออกติดลบลดลง เหลือลบ 1% จากเดิมลบ 2-3%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image