“ผู้ว่าแบงก์ชาติ” คาดนโยบายดิจิทัลลดงบฯจาก 5.6 แสนล้าน กดจีดีพีโตปี’67 ต่ำกว่า 4.4%
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 เมื่อรวมกับนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ด้วยเงินงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท จะสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 4.4% ขณะเดียวกัน รูปแบบการทำนโยบายดังกล่าวอาจไม่ได้ใช้งบที่ 5.6 แสนล้านบาท เมื่อขนาดการกระตุ้นลดลงอาจส่งผลให้จีดีพีปี 2567 จะปรับลดลงต่ำกว่า 4.4% ทั้งนี้ จะปรับประมาณการเป็นเท่าไรนั้น ยังประเมินไม่ได้ เพราะนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2567 ธปท.คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.7-2.8% แนวโน้มอาจบวกลบอยู่ระดับใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3/2567 บางตัวออกมาชะลอลงกว่าที่คาดไว้ แต่ตัวที่ดำเนินการได้ต่อเนื่อง คือการฟื้นตัวของภาคการบริโภค ที่ยังเติบโตได้ทั้ง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวยังเดินทางเข้าไทยตามเป้าหมาย รวมถึงภาคการส่งออกที่ชะลอลงจะกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ดูอ่อนแรงกว่าที่มองไว้จากไตรมาส 2/2566 ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากฝั่งอุปทานที่ลดลง แต่ฝั่งอุปสงค์ยังมีอยู่
“ปี 2567 ประเมินจีดีพีไว้ 4.4% ซึ่งได้รวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้ว จากเดิมวงเงิน 5.6 แสนล้านบาท แต่ถ้าไซซ์ไม่ถึง 5.6 แสนล้านบาท ก็ต้องปรับลดลง นอกจากนี้ ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะรายละเอียดนโยบายยังไม่ชัดเจน” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ขณะที่กรณีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อาจปรับลดความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) ของไทย เพราะความเสี่ยงภาระการคลัง ซึ่งมองว่าสิ่งที่บริษัทเครดิตเรตติ้งกังวลคือเสถียรภาพทางการคลัง และต้องการให้การขาดดุลการคลังทยอยลด หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลง ซึ่งเป็นตัวหลักที่อยากเห็น แต่ความเสี่ยงที่จะถูกเครดิตเรตติ้งปรับลดลง บางบริษัทเครดิตเรตติ้งกังวลไม่อยากให้ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 12% ตอนนี้ของไทยกำลังไป 10% โดยหน้าที่ของ ธปท.คือต้องคอยระวังไว้ก่อน
“ถามว่าไทยจะเป็นอย่างไรในมุมของเสถียรภาพ ก็ต้องบอกว่าโดยรวมดี แต่ชะล่าใจไม่ได้ มีบางตัวเลขที่ดูแล้วมั่นใจได้ แต่ก็มีบางตัวเลขที่มั่นใจได้น้อย ได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ที่ 90.7% อีกจุด ก็คือ หนี้สาธารณะที่ตอนนี้อยู่ที่ 61.7% นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ความจำเป็นการกระตุ้นบริโภคมีไม่มาก เพราะการบริโภคขยายตัวได้ดี ตลาดแรงงานฟื้นตัวตามภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้น อีกทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบริโภคเป็นการกระตุ้นเพียงระยะสั้น