จับตาบอร์ดอีวีชุดใหม่ ชี้อนาคตรถ ‘EV-สันดาป’

จับตาบอร์ดอีวีชุดใหม่ ชี้อนาคตรถ ‘EV-สันดาป’

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยถือว่าเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์มูลค่าอันดับ 1 ของประเทศไทย นักลงทุนกำลังเฝ้ารอดูนโยบายด้านนี้ของรัฐบาลเพื่อไทยอย่างใจจดใจจ่อว่าจะไปทิศทางใด

หลังจากรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน กรีธาทัพบุกเข้ามาประเทศไทยเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก

แต่มาตรการต่างๆ ยังคงยืดเยื้อมานาน โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า 100% ทั้งผู้ผลิตและคนซื้อ กำลังลุ้นว่าจะต่ออายุการช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร

Advertisement

โฟกัสจึงไปอยู่ที่ “คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี”

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จรดปากกาลงนาม คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 286/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยนายเศรษฐานั่งเป็นประธานบอร์ดเอง

สร้างความหวังให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจยานยนต์อย่างมาก ต่างรอลุ้นว่าน่าจะมีทีเด็ดอะไรมากกว่าอดีต
เพราะโครงสร้างเดิมของบอร์ดอีวียุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแทน ทั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ต่างเป็นรอง
นายกรัฐมนตรีทั้งคู่ แต่เป็นคนละช่วง

Advertisement

ขณะที่นายกฯประยุทธ์เลือกจะนั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) แทน

แต่ยุคของนายกฯเศรษฐาคนนี้เลือกนั่งประธานบอร์ดอีวี และมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั่งประธานบอร์ดอีอีซี ขณะที่ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นั่งประธานบอร์ดบีโอไอ

การจัดวางตำแหน่งประธาน 3 บอร์ดสำคัญนี้จึงสะท้อนได้ว่า บอร์ดอีวีนั้นสำคัญกับนายกฯเศรษฐา สำคัญต่อรัฐบาลชุดนี้มากและความเอาจริงเอาจังของนายกฯเศรษฐาเห็นได้จากการเปลี่ยนการใช้รถยนต์อีวีในการทำงานอย่างน้อย 2 ครั้ง มีทั้งรถยนต์อีวีจากค่ายจีนนำมาให้ทดลองนั่งถึงทำเนียบรัฐบาล ส่วนอีกคันรถยนต์อีวีป้ายแดงสัญชาติมะกัน นายกฯเศรษฐาบอกว่ายืมรถภรรยามาลองใช้ และจะไปจีบค่ายรถยนต์นี้มาลงทุนเมืองไทยด้วย

เพียงแค่นี้ก็สร้างความลุ้นระทึกให้เกิดขึ้นในวงการยานยนต์อย่างทันตาเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้น

หากลองไล่ดูตำแหน่งอื่นในบอร์ดอีวีชุดนี้มีจุดน่าสนใจไม่น้อย เพราะนายกฯเศรษฐาได้ปรับโครงสร้างบอร์ดครั้งใหญ่ด้วยการตั้ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ปัจจุบันคือ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ จากเดิมบีโอไอรับหน้าที่เป็นแค่กรรมการบอร์ดอีวี เพราะมีภารกิจหลักในบอร์ดบีโอไออยู่แล้ว

การเพิ่มบทบาทบีโอไอเป็นเลขานุการบอร์ดอีวีอีกตำแหน่งย่อมสะเทือนกับหน่วยงานเลขานุการเดิม คือกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน

โครงสร้างที่ผ่านมา ผู้อำนวยการเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รับหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ตอนนี้เหลือแค่เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการเท่านั้นเป็นการลดบทบาทกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน

คำถามคือ ทำไมนายกฯเศรษฐาถึงลดบทบาท 2 กระทรวง และเพิ่มอำนาจบีโอไอ

ประการแรก เพราะบีโอไอคือหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐบาลเศรษฐาในฝั่งพรรคเพื่อไทย ดูจากการเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีไทย เริ่มต้นตั้งแต่ทริปแรกคือสหรัฐอเมริกา จนถึงทริปล่าสุด จะหนีบเลขาฯบีโอไอร่วมทริปทุกครั้ง

นอกจากนี้ นายกฯเศรษฐายังส่งสัญญาณการขับเคลื่อนนโยบายอีวีของไทยว่า ต้องสนับสนุนไปพร้อมกับรถยนต์สันดาปภายใน หรือรถยนต์เติมน้ำมันจากค่ายญี่ปุ่น

ที่ผ่านมาทิศทางของบอร์ดบีโอไอในยุครัฐบาลที่ผ่านมาอาจสุดโต่งเกินไป หรืออาจจะสนับสนุนจีนเกินไป หรืออาจถูกมองว่าเห่ออีวีเกินไป จนเผลอทิ้งขว้างค่ายรถยนต์สันดาปภายใน

นายกฯเศรษฐาตอกย้ำประเด็นนี้ในการเดินสายขึ้นเวทีสัมมนาหลายแห่ง ตลอดจนหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นายกฯประกาศย้ำชัดว่า รัฐบาลไทยจะดูแลค่ายรถญี่ปุ่นที่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน หรือไอซีอี ในฐานะผู้มีพระคุณของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อเป็นฐานผลิตสุดท้ายของโลก หรือลาสต์แมนสแตนดิ้งอีก 15 ปีข้างหน้า เพราะไทยเป็นซัพพลายหลักของโลก จ้างงานถึง 6 แสนคน

ดังนั้น การจะทำให้นโยบายขับเคลื่อนอีวี พร้อมดูแลรถยนต์สันดาปควบคู่กันไปสำเร็จได้ก็ต้องคุมเอง และมีหน่วยงานกำกับของตัวเองสนองงานให้

ขณะที่คำตอบสอง ด้วยโครงสร้างเดิมของบอร์ดอีวีกำหนดให้ 2 กระทรวงคือ อุตสาหกรรม และพลังงาน เป็นคลังสมองของบอร์ด แต่ปัจจุบันทั้ง 2 กระทรวงอยู่ภายใต้บังเหียนของพรรครวมไทยสร้างชาติ หากเพื่อไทยไม่คุมเอง ผลงานอีวีนับจากนี้อาจโดนพรรคร่วมกินรวบได้

หากลองมองลึกในโครงสร้างบอร์ดอีวี พบว่ากรรมการโดยตำแหน่งคงเดิม แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิเพราะนายกฯเศรษฐาเลือกใช้บริการผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เช่น นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่เพิ่งเกษียณ นายศุภนิจ จัยวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นเพื่อนสนิท และ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นกรรมการด้วย

ยิ่งตอกย้ำการให้ความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ผ่านบอร์ดอีวียุครัฐบาลเศรษฐาเป็นอย่างยิ่ง

บอร์ดอีวีชุดล่าสุดวางกรอบประชุมนัดแรก 1 พฤศจิกายนนี้ วาระสำคัญเร่งด่วนรอการพิจารณาคือ มาตรการอีวี 3.5 หรือแพคเกจอีวี 3.5 จะเริ่มใช้ 1 มกราคม 2567 เป็นแพคเกจต่อจากแพคเกจอีวี 3.0 จะสิ้นสุดปีนี้
รายละเอียดแพคเกจอีวี 3.5 เบื้องต้นยังคงให้ส่วนลดซื้อรถอีวี แต่อาจน้อยกว่า

แพคเกจ 3.0 สูงสุดอยู่ 150,000 บาท พร้อมเงื่อนไขใหม่ให้ค่ายรถนำเข้าอีวีมาขายต้องตั้งโรงงานผลิตชดเชย 2 ต่อ 1 เพิ่มจากแพคเกจอีวี 3.0 ที่กำหนดผลิต 1 ต่อ 1 สิ่งที่สำคัญของแพคเกจ 3.5 คือ กำหนดมาตรการสนับสนุนให้ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น แพคเกจอีวี 3.5 เป็นไอเดียที่กระทรวงอุตสากรรมวางกรอบไว้

กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความชัดเจนนโยบายนี้ เพราะใกล้สิ้นมาตรการอีวี 3.0 และปีนี้คาดว่าจะมีอีวีป้ายแดงจดทะเบียนมากถึง 75,000 คัน หากนโยบายชัดปีหน้ายอดอีวีป้ายแดงจะทะยานกว่านี้แน่นอน

เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยท่ามกลางปัจจัยท้าทาย ทั้งราคาน้ำมันแพง ฝุ่นพีเอ็ม ต้องดูแลทั้งภาคเอกชนรายเก่า รายใหม่ ค่ายจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ

และที่สำคัญราคารถยนต์อีวีจะถูกลงแค่ไหน อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะรักษาความแข็งแกร่งต่อไป สู้กับประเทศคู่แข่งได้หรือไม่ อย่างไร

เป็นสิ่งท้าทายบอร์ดอีวียุคนายกฯเศรษฐา อย่างยิ่ง!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image