ทีดีอาร์ไอชี้ เอกชนไม่ลงทุน เพราะรัฐให้แต่เงิน-ไร้นโยบายต่อเนื่อง

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยแพร่บทความเรื่อง “การพัฒนาปัจจัยเชิงสถาบันเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน” ว่า จากกรณีที่ปลัดปลัดกระทรวงการคลังออกมาให้สัมภาษณ์ว่าภาครัฐได้ให้สิทธิประโยชน์มากเป็นประวัติการณ์ แต่ภาคเอกชนก็ยังไม่ยอมลงทุน โดยมีนักวิชาการออกมาให้เหตุผลว่าภาคเอกชนยังขาดความเชื่อมั่น ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงประเด็นระบบการเมืองและความเป็นประชาธิปไตยนั้น ส่วนตัวมองว่าการตัดสินใจว่าการเมืองเป็นปัจจัยให้เอกชนไม่ลงทุนนั้นอาจเป็นการรีบตัดสินใจมากเกินไป เพราะการเป็นเผด็จการของประเทศไทยไม่ได้กดขี่ภาคธุรกิจ แต่กลับเป็นการดึงเอาภาคีธุรกิจเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ดังจะเห็นได้จากการที่ภาครัฐได้ดึงเอานักธุรกิจเข้าไปร่วมในคณะทำงานในหลายๆด้าน

ส่วนสาเหตุที่เอกชนไม่ตัดสินใจลงทุนนั้น มองว่ามาจากการขาดการสร้างปัจจัยเชิงสถาบันที่เหมาะสมในการสนับสนุนการลงทุน สามปัจจัยคือ 1.ภาครัฐยังมุ่งเน้นที่จะผลักดันการลงทุนผ่านการให้แรงจูงใจทางด้านการเงินเป็นหลัก โดยการสนับสนุนด้านอื่นๆ กลับเป็นเพียงส่วนเสริมมากกว่าที่จะเป็นข้อเสนอแบบเป็นชุด ที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ 2.ภาครัฐขาดความต่อเนื่องในเป้าหมายที่สนับสนุน โดยในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่สนับสนุนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามนโยบายของพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองใหม่เข้ามาเลือกตั้งก็จะมีการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น จากเดิมที่สนับสนุนการผลิตรถยนต์ Eco car เป็นหลักก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ภาครัฐจะวางยุทธศาสตร์ 20 ปีเพื่อแก้ไขปัญหา แต่รูปแบบการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายยังขาดกลไกการตรวจสอบที่ชัดเจน เช่น เป้าหมายที่จับต้องได้ในระยะสั้น-กลาง-ยาว ขาดกลไกการประเมินผลทำให้ภาครัฐขาดข้อมูลที่เหมาะสมในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ การประเมินผลยังช่วยให้ภาครัฐลดความเสี่ยงที่จะถูกกลุ่มผลประโยชน์ที่จะเข้ามาผลักดันการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ ทำให้ภาครัฐสูญเสียโอกาสที่จะผลักดันอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากกว่าอย่างแท้จริงไป
นายนณริฎ ระบุอีกว่า 3.หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลในแต่ละด้านจะมีความชำนาญเป็นพิเศษเฉพาะในด้านที่มีอำนาจหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในภาคธุรกิจซึ่งมีความซับซ้อนในหลายด้านได้ เช่น ธุรกิจนอกจากจะต้องการแรงจูงใจทางด้านการเงินแล้ว อาจจะต้องการการพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงการดึงบุคลากรที่ชำนาญการเฉพาะทางจากสถาบันวิจัย โดยสรุปมองว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชนยังลังเลที่จะลงทุน มาจากการขาดระบบการสนับสนุนการลงทุนที่ดีซึ่งทำให้เอกชนเกิดความไม่แน่ใจและไม่กล้าที่จะลงทุน

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น มองว่าการต้องกำหนดเจ้าภาพ เป็นหน่วยงานภาครัฐ หรืออาจจะอาศัยคณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการลงทุนอย่างเบ็ดเสร็จ โดยให้ข้อเสนอแบบเป็นชุดที่สอดคล้องกับประเด็นความต้องการของภาคธุรกิจ ในขณะเดียวกันองค์กรเจ้าภาพก็ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบประเมิน และกำหนดเป้าหมายร่วมกับภาคเอกชนในระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมมีความต่อเนื่อง มีความก้าวหน้าในระดับที่เหมาะสม และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแท้จริง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image