เงินเฟ้อเดือนต.ค. ติดลบ 0.31% ลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน พณ.เผยเหตุค่าครองชีพลดลง

เงินเฟ้อ เดือน ต.ค.66 ติดลบ 0.31% ลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน จากค่าครองชีพที่ลดลง คาดเงินเฟ้อทั้งปี’66 ที่ 1.35% ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ต.ค. เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนตุลาคม 2566 เท่ากับ 107.72 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 108.06 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ที่ -0.31% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และสินค้าอุปโภค-บริโภค เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งเนื้อสุกร และผักสด ที่ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.66% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

“โดยกรณีที่เงินเฟ้อที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือนนั้น ไม่ได้กังวลแต่อย่างไร และไม่มีประเด็นเรื่องเงินฝืดอย่างแน่นอน เพราะเศรษฐกิจยังไปได้ หากดูจากภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโต กำลังซื้อยังมีด้วย รวมถึงการคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี” นายพูนพงษ์กล่าว

นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกันยายน 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น 0.30% ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำ อันดับ 8 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย) โดยอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ

Advertisement

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 10 เดือนปี 2566 (มกราคม-ตุลาคม 2566) เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้น 1.60% ซึ่งเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด (1.0-3.0%) ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2566 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร (เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร) และกลุ่มพลังงาน (ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง) รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา ราคาปรับสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ในระดับดี รวมทั้ง สถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัว จากมาตรการจำกัดการผลิตและส่งออกน้ำมันของผู้ผลิตรายสำคัญของโลก และความขัดแย้งในต่างประเทศ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0-1.7% (ค่ากลาง 1.35%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ภายใต้ปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 2.5-3% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 34.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการทางภาครัฐ เช่น ดิจิทัล 10,000 บาท สนค.ติดตามอยู่แล้วหากมีความชัดเจนของมาตรการก็พอจะทราบว่ามีผลต่อเงินเฟ้ออย่างไร

Advertisement

“สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2566 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.8 จากระดับ 55.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 คาดว่ามาจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพ ทั้งการปรับลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และเรื่องระดับราคาสินค้า และบริการในประเทศ ที่อาจทอนค่าเชื่อมั่นของประชาชนต่อเศรษฐกิจในภาพรวม”

นายพูนพงษ์กล่าวว่า โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 47.0 ปรับสูงขึ้นจาก 46.5 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ 61.6 ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยจาก 61.9 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image