ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
ตั้งแต่เปิดศักราช ปี 2559 หรือเริ่มเข้าปีลิง เรียกได้ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องเจอมรสุมหนักกับปัญหาทางการเกษตร ทั้งการเตรียมปัญหาภัยแล้ง การประมงผิดกฎหมาย และล่าสุด คือ ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างไม่ทันตั้งตัว ผลพวงจากราคาน้ำมันโลกถดถอยอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน บวกกับปริมาณการปลูกยางที่สูงขึ้นมากทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น สต๊อกยางรัฐบาลที่ยังมีมากกว่า 3 แสนตัน ขณะที่ความต้องการใช้ยางยังอยู่ในระดับเท่าเดิม ราคายางจึงร่วงลงต่ำสุดที่ 35 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากในปี 2554 เคยพุ่งชนจุดสูงสุดมาแล้วที่ 180 บาทต่อ กก. หลายฝ่ายบอกว่า ถือเป็นราคายางที่ตกต่ำสุดในรอบ 100 ปี
จากปัญหาราคายางกลายเป็นกระแสร้อนแรงที่จุดไฟให้หลายฝ่ายทั้งที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล ออกมาเคลื่อนไหวจากผลงานที่ไม่เข้าตากันถ้วนหน้า โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นผู้เล่นสำคัญต้องออกมาเรียกร้อง ขู่จะชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่กดดันรัฐบาลมาตรการช่วยเหลือและดันราคายางให้กลับขึ้นไปอย่างต่ำ 60 บาทต่อ กก.
รัฐซื้อยาง45บาทต่อ กก.ให้8กระทรวงใช้
จากปัญหาต่างๆ แม้รัฐจะเพิ่งมีมติเห็นชอบโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร หรือการจ่ายเงินให้ชาวสวนยาง 1,500 บาทต่อไร่ วงเงิน 13,000 ล้านบาท ไปเมื่อช่วงธันวาคม 2558 แต่ด้วยการเบิกจ่ายที่ล่าช้า เงินถึงมือเกษตรกรเพียง 3 พันกว่าคน จาก 8 แสนครัวเรือน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องสั่งหน่วยงานราชการ หรือ 8 กระทรวง ที่มีความต้องการใช้ยางพาราสรุปเป็นตัวเลขเพื่อเข้าไปซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง เบื้องต้น 1 แสนตัน จากผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดถึงช่วงฤดูปิดกรีดยางในเดือนมีนาคมนี้ 7-9 แสนตัน โดยมาตรการดังกล่าวถือเป็นการซื้อยางเพื่อชี้นำราคาในตลาดให้สูงขึ้น
เหตุผลที่ให้กระทรวงซื้อยางและนำมาแปรรูปใช้เลยนั้น นายกฯระบุว่า เนื่องจากไม่ต้องการให้ซื้อยางและนำมาเก็บไว้เพื่อเป็นการทำให้ผลผลิตยางในประเทศยังคงอยู่ และอาจจะกดดันราคายางได้ในอนาคต
ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบที่จะรับซื้อแผ่นยางดิบจากเกษตรกรโดยตรงในราคา กก.ละ 45 บาท ส่วนน้ำยางสดและยางก้นถ้วยจะซื้อในราคาลดหลั่นลงไป โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) คสช. และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นผู้บูรณาการร่วมกัน ใช้เงินตามที่สำนักงบประมาณได้แนะนำ คือใช้เงินจากกองทุนการยาง หากไม่พอจะสำรองเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มดำเนินการรับซื้อยางพารา ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมนี้เป็นต้นไป ส่วนงบประมาณรับซื้อยางพาราจะดึงงบประมาณจากการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา (เซส) ของ กยท. ที่สะสมอยู่ทั้งหมด 31,000 ล้านบาท มาใช้ในการรับซื้อยาง วงเงิน 4,500 ล้านบาทก่อน ทั้งนี้ การรับซื้อยางพารา 1 แสนตันจะกำหนดปริมาณการซื้อที่ 10 กก./ไร่ และครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ รวมทั้งหมดครัวเรือนละไม่เกิน 150 กก. โดยจะมีการตั้งจุดรับซื้อยางในพื้นที่ภาคใต้ 2,000 จุด ภาคเหนือและอีสาน 1,000 จุดด้วย ซึ่งปริมาณการรับซื้อนี้จะเป็นเกณฑ์เดียวกับการรับซื้อยางพาราจากชาวสวนยางทั่วประเทศ รวมทั้งภาคใต้ด้วย
แหล่งเงินอุดหนุนจากเซส-เงินกู้ธ.ก.ส.
พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ระบุเพิ่มเติมว่า ในส่วน อคส.ที่จะเข้าไปซื้อยาง อาจจะใช้เงินจากการให้สินเชื่อของ ธ.ก.ส. ขณะที่ กยท.จะใช้เงินเซสเข้าไปรับซื้อยาง ส่วน คสช.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
ส่วนขั้นตอนภาพรวมมาตรการการซื้อยางรัฐบาลและการนำมาให้ 8 กระทรวงประยุกต์ใช้นั้น นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ชี้แจงว่า เบื้องต้น 3 หน่วยงานหลัก อาทิ อคส. คสช. และ กยท.จะดำเนินการเข้าซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง ขณะเดียวกันจะประสานข้อมูลกับ 8 กระทรวงที่มีความต้องการใช้ยางพาราและผู้ประกอบการที่มีโรงงานแปรรูปยางด้วย เช่น กระทรวงสาธารณสุขมีความต้องการถุงมือยาง ก็จะรวบรวมตัวเลขความต้องการและทำรายการคำสั่งซื้อส่งไปที่ 3 หน่วยงาน จากนั้นทั้ง 3 หน่วยงานที่ซื้อยางก็จะรับคำสั่งซื้อจากกระทรวง และติดต่อกับผู้ประกอบการโรงงานให้ทำถุงมือยางตามที่กระทรวงนั้นๆ ประสานมา ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางได้ตามนั้น ก็ให้กระทรวงเป็นผู้จ่ายเงินกับผู้ประกอบการโดยใช้งบประมาณปกติของแต่ละกระทรวงไป
ทั้งนี้ ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีการจัดทำเอกสารรายงานสรุปความต้องการใช้ยางพาราในการดำเนินโครงการของส่วนราชการ 8 กระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสรุปว่า ทั้ง 8 กระทรวงมียอดรวมความต้องการใช้ยางทั้งหมด 90,895.83 ตัน วงเงินรวมทั้งหมด 75,253.47 ล้านบาท
พบช่องโหว่มาตรการรับซื้อยาง-กังวลใช้เงินเซส
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะออกมาตรการรับซื้อยางจากเกษตรกรมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่ายังมีช่องโหว่ที่ภาครัฐต้องตามอุดอีกมากก่อนที่จะเริ่มมาตรการได้อย่างเร่งด่วน เช่น กยท.อาจนำเงินเซสมาใช้ซื้อยางเกษตรกรไม่ได้ เพราะการใช้เงินเซสได้มีกฎหมายกำหนดว่า กยท.จะนำไปใช้ต้องตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อ คือ 1.ใช้ในการบริหารจัดการ กยท.จำนวน 10% 2.ใช้ในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกแทน สัดส่วน 40% 3.ใช้สนับสนุน ส่งเสริม ชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางในด้านการปรับปรุงคุณภาพ ผลผลิต การผลิต การแปรรูปและการตลาด 35% 4.ใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเงิน วิชาการ การศึกษา วิจัย และการค้นคว้า ทดลอง สัดส่วน 5% 5.ใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวน สัดส่วน 7% และ 6.ใช้จ่ายในการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง3%
พล.อ.ฉัตรชัยระบุว่า การใช้เงินเซสของ กยท.มีนักกฎหมายของ กยท. และสำนักงบประมาณทักท้วงมาว่า ไม่แน่ใจว่าเงินเซสจะสามารถใช้ได้หรือไม่ เพราะ กยท.มีกฎหมายรองรับ เงินกองทุนของ กยท.ต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ดังนั้น จึงสั่งให้ กยท.ไปหารือกับนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหาข้อสรุปการใช้เงิน ก่อนที่จะทำกระบวนการใช้เงินเพื่อซื้อยางตามนโยบายรัฐบาล เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 มกราคมนี้ หากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า เงินเซสใช้ได้ทั้งหมด 4,500 ล้านบาท ก็สามารถดำเนินการได้ แต่หากตีความว่าสามารถใช้ได้บางส่วน ที่เหลืออาจจะใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส. หรือต้องใช้งบกลางในบางส่วน โดยการใช้เงินเซสจะต้องรอบคอบ เพราะกลัวการใช้เงินเซสอาจผิดกฎหมายที่ต้องติดคุกซ้ำรอยคดีกล้ายางได้ แต่คาดว่า 90% การดำเนินโครงการซื้อยางตามนโยบายรัฐบาลไม่น่ามีปัญหา
นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรบางรายที่ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการรับซื้อยางรัฐบาลอาจทำให้เงินไม่ถึงมือเกษตรกรโดยตรง เพราะอาจมีพ่อค้าหรือสถาบันเกษตรกรที่กว้านซื้อยางในราคาต่ำจากเกษตรกรในช่วงนี้ และนำยางที่ซื้อจากเกษตรกรมาให้เกษตรกรตัวปลอมขายกลับให้กับรัฐบาลเพื่อที่จะได้ส่วนต่างราคาที่สูงขึ้น ซึ่งนายเด่นเดช เดชมณี เลขาธิการสมาคมชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า ขณะนี้ยางอยู่ในมือของกลุ่มสถาบันการยาง และกลุ่มพ่อค้าคนกลางแล้ว เมื่อรัฐบาลเปิดการรับซื้อ เกษตรกรรายย่อยจะไม่มีโอกาสได้ขายยางในโครงการดังกล่าว
อีสานโวยออกมาตรการช่วย2มาตรฐาน
ขณะเดียวกัน นายศิริชัย ห่านวิบูลย์พงศ์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจร จังหวัดบึงกาฬ ระบุว่า ขณะนี้มาตรการรัฐบาลที่จะออกมาซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงนั้น ไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในภาคเหนือและภาคอีสานเลย เนื่องจากมาตรการนี้มีกำหนดการรับซื้อยางจากเกษตรกรช่วงวันที่ 25 มกราคมนี้เป็นต้นไป แต่ในภาคอีสานนั้น ได้ปิดกรีดยางตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ยังคงกรีดยางกันอยู่จนถึงเดือนมีนาคม อีกทั้งมาตรการรับซื้อยางจากเกษตรกรนั้น ได้จัดสรรโควต้ารับซื้อยางเกษตรกร โดยจะรับซื้อยางเกษตรกรครัวเรือนละ 150 กก. ซึ่งหากคิดคำนวณอัตราซื้อยางในราคา 45 บาทต่อ กก.นั้น เท่ากับว่า เกษตรกรจะได้เงินทั้งหมด 6,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงแค่มาตรการน้ำจิ้ม ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้เลย
“เกษตรกร ภาคอีสาน และภาคเหนือไม่พอใจกับมาตรการดังกล่าวเลย ผมรู้สึกน้ำท่วมปาก จุกอก อีกทั้งยังรู้สึกรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง 2 มาตรฐานด้วย คือ ภาคใต้ได้ประโยชน์ แต่ภาคอื่นๆ ไม่ได้อะไร ภาคอีสานเองก็ปิดกรีดยางในช่วงปลายมกราคมนั้น ก็เป็นเพราะเรื่องของฤดูกาลธรรมชาติ ใบยางแห้ง จะกรีดยางได้อย่างไร แล้วหากรัฐจะเข้ามาซื้อยางจากเกษตรกรอีสานในช่วงปิดกรีดไปแล้ว ถามว่าจะซื้อได้เท่าไร ในเมื่อไม่มียางออกแล้วช่วงนั้น นอกจากจะมีเกษตรกรกักตุนยางไว้ ดังนั้น ก็คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้แล้ว” นายศิริชัยกล่าว
จากช่องโหว่ของมาตรการรับซื้อยางดังกล่าว ต่อจากนี้จึงถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องระมัดระวัง นอกเหนือจากการวางนโยบายแล้ว ผลปฏิบัติที่ออกมาต้องเป็นรูปธรรม จับต้องได้และเกาถูกที่
มิฉะนั้น มาตรการต่างๆ ที่รัฐออกเพื่อต้องการช่วยประชาชนอย่างแท้จริง ในอีกแง่อาจเป็นการขุดหลุมพรางให้ตัวเองพลาดพลั้ง บาดเจ็บได้!