‘ก.ล.ต.-ตลท.’ ประสานเสียง ‘ชอร์ตเซล’ ไม่ใช่ต้นตอ ทำหุ้นไทยดิ่งสุดในโลก

‘ก.ล.ต.-ตลท.’ ประสานเสียง ‘ชอร์ตเซล’ ไม่ใช่ต้นตอ ทำหุ้นไทยดิ่งสุดในโลก มั่นใจขบวนการดูแลและตรวจสอบ ยกผลวิจัยไทยเทียบสิงคโปร์ พบชอร์ตเซลไม่มีผลทำให้ราคาหุ้นลดลง ด้าน ‘ภากร’ ย้ำโปรแกรมเทรดจากต่างชาติ ไม่ใช่ต้นเหตุ เจาะลึกกลุ่มบุคคลในประเทศชอร์ตหุ้นหนักมือกว่า

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน สำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวด่วน หลังจากตลาดหุ้นยังปรับตัวลงหนักและแรงและหลุด 1,400 จุด เพื่อสร้างและเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า การทำชอร์ตเซลหุ้น คือ ต้นตอสำคัญที่ทำให้หุ้นไทยยังดิ่งหนัก ซึ่งในการแถลง ได้เน้นและชี้แจงในประเด็นชอร์ตเซลเป็นหลัก

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า การแถลงร่วมกับเลขาธิการ ก.ล.ต. เพื่อติดตามภาวะตลาดทุนไทย เนื่องจากตลาดหุ้นเคลื่อนไหวผันผวนและปรับลดลงในเชิงลบ จึงมีการตั้งคำถามถึงสาเหตุเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติ ทำการชอร์ตเซล หรือโปรแกรมเทรดดิ้งในการเข้าซื้อหุ้นไทย ทำให้ดัชนีปรับลดลงหนักและมากกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค เบื้องต้นต้องยอมรับว่าดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงมากกว่าภูมิภาคจริง แต่อยากให้มั่นใจและเชื่อใจว่าตลาดหลักทรัพย์ฯมีการติดตามข้อมูลทั้งหมดอย่างสม่ำเสมอและละเอียดมาก จึงยืนยันว่าไม่พบความผิดปกติ ทำให้การชอร์ตเซลจากต่างชาติจนกระทบหุ้นไทยร่วงหนัก ไม่ได้มีผลมาจากปัจจัยนั้นจริงๆ ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลจะใช้มาตรการห้ามขายชอร์ตเซลเหมือนกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยมองว่าการจะปรับกลไก (mechanism) เรื่องการชอร์ตเซล หรือโปรแกรมเทรดดิ้ง รวมทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นด้วยความถี่สูง (High Frequency Trading: HFT) ต้องพบความปกติจากการติดตามข้อมูลซื้อขาย แต่ที่ผ่านมายังไม่พบความผิดปกติใดเกิดขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนแก้ไขมาตรการใดจะใช้ความเชื่อไม่ได้ด้วย ต้องเป็นการอ้างอิงข้อมูลชัดเจนเป็นหลัก

“ข้อมูลปริมาณชอร์ตเซลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณเท่าเดิม แต่เนื่องจากวอลุ่มลดลง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้เปอร์เซ็นต์จึงสูงขึ้นมาในระดับ 5.6% จากปีก่อน 5.4% และโปรแกรมเทรดดิ้งก็เช่นกัน โดยสาเหตุที่หุ้นไทยยังปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเพราะอะไรนั้น มองว่าปีนี้จะเป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในแง่ของการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานในด้านต่างๆ ทุกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศ หากต่างชาติมองว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ก็จะสะท้อนความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศ บรรยากาศก็จะปรับดีขึ้นได้” นายภากรกล่าว

Advertisement

นายภากรกล่าวว่า ปัจจุบันการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ นิยมใช้โปรแกรมซื้อขายเป็นหลัก ทำให้เป็นรูปแบบการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง หรือ High Freqeuncy Trading จากข้อมูลมีสัดส่วนเพียง 10% ของวอลุ่มการซื้อขาย รวมถึงบางกลุ่มก็ไม่ได้ใช้ความเร็วราว 24% และที่เหลือไม่ได้ใช้โปรแกรมอัตโนมัติ แต่ใช้ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์หรือราว 16% จึงไม่อยากให้มองว่านักลงทุนต่างชาติใช้โปรแกรมเทรดอัตโนมัติด้วยความเร็วทำให้ตลาดหุ้นตก ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเพียงโปรแกรมเท่านั้นที่ขายหุ้นไทย แต่ขายกันทั้งหมดด้วย จึงไม่อยากให้ไปหาแม่มดกัน เพราะไม่มีแม่มดเกิดขึ้น

ด้านนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การห้ามชอร์ตเซล คงไม่สามารถทำได้ แต่สามารถติดตามข้อมูลการทำการขายชอร์ตเซลแทน ซึ่งปริมาณการชอร์ตเชลหุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีสัดส่วนเพียง 5.6% มูลค่าซื้อขายทั้งหมด ใกล้เคียงกับก่อน ซึ่งจากการติดตามของ ก.ล.ต.เกี่ยวกับการทำชอร์ตเซลและโรบอตเทรดว่าเกิดการกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือซ้ำเติมภาวะตลาดทำให้ Sentiment ของตลาดหุ้นเสียไปหรือไม่ พบว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด YTD ปีนี้จะพบว่ามีสัดส่วนอยู่ 5.6% ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ หรือกลุ่มกลางที่เปิดให้ทำชอร์ตเซลแบบมีเงื่อนไข คือมีเกณฑ์ให้ทำในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายล่าสุด และห้ามการทำ Naked ชอร์ตเซล ไม่ว่าจะโปรแกรมเทรดดิ้งหรือซื้อขายปกตื ต้องมีหุ้นก่อน หรือยืมหุ้นมาก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดส่งมอบ ด้วยกลไกที่มีอยู่ทำให้เราต้องมั่นใจว่าสามารถห้ามได้และเอาผิดได้ Naked ชอร์ตเซลได้

“อยากให้ความมั่นใจด้วยการไม่ได้พูดปากเปล่า แต่ให้ความมั่นใจด้วยข้อมูล เพราะเราไม่สามารถห้ามเม็ดเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ต่างๆ ได้ แต่ก็ไม่อยากให้ฟันด์โฟลว์ที่ไม่เหมาะสมไหลเข้ามาในตลาดทุนไทย อยากให้รายย่อยมีความเข้าใจมากขึ้นด้วย” นางพรอนงค์กล่าว

Advertisement

 

สำหรับกรณีการผิดนัดชำระหุ้นกู้และการยื่นฟื้นฟู JKN ดร.ภากรกล่าวว่า เป็นกรณีเกิดขึ้นเฉพาะบริษัท แต่ก็ยอมรับว่าในภาวะที่สภาพคล่องต่ำ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุน ดังนั้น การขายหุ้นกู้ก็จะยากขึ้น

ขณะที่ เลขาฯ ก.ล.ต.กล่าวว่า ก็อยู่ระหว่างพิจารณาการดูแลหุ้นกู้ ว่าระดับเครดิตอินเวสเมนต์เกนด์เพียงพอไหม หรือต้องสูงกว่านี้ หรือให้ต้วแทนผู้ถือหน่วยมีบทบาทมากกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image