ฟื้น ‘เหมืองโปแตช’ ความหวัง ปุ๋ยราคาถูก

ฟื้น ‘เหมืองโปแตช’ ความหวัง ปุ๋ยราคาถูก

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ‘เหมือง โปแตช’ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเด็นอีกครั้ง หลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สอบถาม น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในที่ประชุม ครม.ถึงความคืบหน้าการทำเหมืองโปแตชจากผู้รับสัมปทานทั้ง 3 ราย ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยภูมิ นครราชสีมา และอุดรธานีที่มีความล่าช้า โดยได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมประสานเอกชนเร่งผลิต ย้ำว่าหากผู้รับสัมปทานทั้ง 3 รายยังไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการไม่ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเร่งหาผู้ดำเนินการรายใหม่เข้าดำเนินการแทน เพื่อให้มีวัตถุดิบเข้าไปในระบบการผลิตปุ๋ยเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ได้อย่างรวดเร็ว

ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อนั้น น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์กับ “มติชน” ว่าได้สั่งการให้กรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) แจ้งผู้ผลิตเหมืองแร่โปแตชทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT ตั้งอยู่ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ APPC ตั้งอยู่ที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ อ.เมือง จ.อุดรธานี ชี้แจงแผนการลงทุนทั้งระบบ กรอบเวลาต่างๆ ตลอดจนข้อติดขัด อุปสรรคที่ทำให้โครงการมีความล่าช้ามายังกระทรวงอุตสาหกรรมภายใน 3 เดือนนับจากนี้

เบื้องต้นผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมีสถานะการดำเนินการที่แตกต่างกันไป

Advertisement

1.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิ ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 มีอายุ 25 ปี พื้นที่ 9,708 ไร่ เงินลงทุน 60,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี มูลค่าแหล่งแร่ 260,000 ล้านบาท ขณะนี้โครงการยังไม่คืบหน้ามากนักเนื่องจากอยู่ระหว่างระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการ

2.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 มีอายุ 25 ปี พื้นที่ 9,005 ไร่ เงินลงทุน 5,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 0.1 ล้านตันต่อปี มูลค่าแหล่งแร่ 30,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วในอุโมงค์ใต้ดินก่อนถึงชั้นแร่ บริษัทแจ้งเปลี่ยนผังจากอุโมงค์เอียงเป็นอุโมงค์ตั้ง 3 อุโมงค์ กพร.จึงให้ทำแผนชี้แจงอย่างละเอียดส่งมาให้พิจารณาก่อนเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งมีประเด็นชาวบ้านร้องเรียนค่าความเค็ม กพร.จึงตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้แล้ว กำหนดกรอบเวลา 3 เดือนเช่นกัน

3.บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.อุดรธานี ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 มีอายุ 25 ปี พื้นที่ 26,446 ไร่ เงินลงทุน 36,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 2.0 ล้านตันต่อปี มูลค่าแหล่งแร่ 500,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้เริ่มมีการเข้าพื้นที่และกำลังจะเริ่มเจาะอุโมงค์

Advertisement

ภาพรวมการทำเหมืองใต้ดินทั้ง 3 โครงการจะครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 45,159 หมื่นไร่ มีแผนใช้เงินลงทุน 101,000 ล้านบาท จากมูลค่าแร่รวมทั้งสิ้นประมาณ 790,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตแร่โปแตชรวมถึง 3.2 ล้านตันต่อปี จะเพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ และสามารถส่งออกหรือนำไปแลกเปลี่ยนกับปุ๋ยธาตุอาหารหลักอื่นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับแรงงานในท้องถิ่นรวมไม่น้อยกว่า 5,000 คน

“เป้าหมายสำคัญที่สุดในการสนับสนุนการทำเหมืองแร่โปแตช คือช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้ได้ใช้ปุ๋ยราคาถูก ปุ๋ยที่ผลิตในประเทศ เพราะไทยมีแร่โปแตชเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตปุ๋ย กพร.จึงส่งเสริมและผลักดันให้ผลิตแร่ดังกล่าว ทั้งนี้ การนำแร่ขึ้นมาก็ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานการทำเหมืองที่ปลอดภัย มาตรฐานสากล ชุมชนรอบพื้นที่ยอมรับ ไม่กระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น บางโครงการ อาทิ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วในอุโมงค์ใต้ดินก่อนถึงชั้นแร่ ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและได้มาตรฐานสูงสุด” รัฐมนตรีพิมพ์ภัทราระบุ

รัฐมนตรีพิมพ์ภัทราให้ข้อมูลด้วยว่าโปแตชเป็นแร่ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ย เป็นหนึ่งในธาตุอาหารหลักของพืชผลทางการเกษตรและยังไม่มีสารอื่นมาทดแทนได้ มีความสำคัญต่อทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีเมื่อปี พ.ศ.2516 พบว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองของแหล่งแร่โปแตชค่อนข้างมาก มีปริมาณแร่สำรองทางธรณีวิทยาประมาณ 400,000 ล้านตัน และเป็นแร่ที่มีคุณภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปรากฏครอบคลุมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเกิดร่วมกับเกลือหิน โดยกระจายตัวในแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช

พิมพ์ภัทรา ย้ำว่า “แม้ประเทศไทยจะเป็นแหล่งแร่โปแตชที่สำคัญและมีปริมาณมาก แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถนำแร่โปแตชขึ้นมาผลิตเป็นปุ๋ยได้ ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าแร่โปแตชประมาณ 1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี มีแหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ แคนาดาและเบลารุส โดยราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ประมาณ 11,000 บาทต่อตัน ช่วงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาปุ๋ยโปแตชเพิ่มสูงขึ้น 2-3 เท่า ราคาในบางช่วงเวลาพุ่งสูงขึ้นถึง 20,000-25,000 บาทต่อตัน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร คิดเป็นต้นทุนที่เกษตรกรไทยต้องแบกภาระเพิ่มถึง 10,000-15,000 ล้านบาทต่อปี

การผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เป็นการสร้างความสมดุลด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตรของประเทศ ช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูกและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร คาดว่าราคาปุ๋ยโปแตชจะลดลงประมาณ 15-20% เมื่อมีการผลิตได้ในประเทศ หรือช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี ลดมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มมูลค่าการส่งออกประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อปี สร้างรายได้ให้ประเทศ และเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐจากการจัดเก็บค่าภาคหลวงและภาษีอื่นๆ”

นอกจากนี้ เงินค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้จะถูกจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,000 คน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งมีการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับชุมชนผ่านกองทุนการพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่และค่าตอบแทนให้กับชุมชนในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

“3 เดือนนับจากนี้ผู้ถือประทานบัตรทั้ง 3 รายต้องมีความชัดเจน เพราะเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมคือการช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้ได้ใช้ปุ๋ยราคาถูก ลดการนำเข้า สร้างรายได้ให้ประเทศ” รัฐมนตรีพิมพ์ภัทราทิ้งท้าย

คาดหวังว่าหากเปิดเหมืองโปแตชได้แล้วราคาปุ๋ยถูกลงจริง ก็จะช่วยคลี่คลายปัญหาเกษตรกรไทย ที่เผชิญกับปุ๋ยราคาแพง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image