ยักษ์น้ำมันหนีตายเบรกลงทุน “หั่นรายจ่าย-ปลดคน” สู้ราคาดิ่ง

การร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่มีทีท่าจะผงกหัวในอนาคตอันใกล้ และกลายเป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายสำหรับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมพลังงาน ความหวังที่จะเห็นราคาฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ หลังจากรูดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2558 ดูเหมือนจะกลายเป็นเพียงฝันกลางวัน และในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันส่อเค้าจะหลุด 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แรงกดดันต่อบริษัทน้ำมันยิ่งทวีคูณ เพราะการตัดลดรายจ่ายเพื่อประคองตัวไล่ไม่ทันการลดลงของรายได้

ไฟแนนเชียล ไทมส์ อ้างบทวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษา “วูด แมคเคนซี” ว่า มี โครงการพัฒนาแหล่งน้ำมันแห่งใหม่เพียง 6 โครงการเท่านั้นที่ได้ไปต่อในปีนี้ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกหลายแห่งตัดสินใจระงับโครงการที่มีจุดคุ้มทุนระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ในขณะนี้เริ่มหยิบยกแผนงานประจำปีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากโครงการที่มีจุดคุ้มทุนที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็อาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

 


นายแองกัส โรเจอร์ นักวิเคราะห์จากวูด แมคเคนซีฟันธงว่า “ปีนี้จะปีที่สาหัส บริษัทน้ำมันส่วนมากมุ่งเน้นไปที่การเอาตัวรอดในระยะสั้นและปรับลดต้นทุน เมื่อถึงจุดหนึ่งจำเป็นต้องมีการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการยกเลิกโครงการที่ไม่ทำกำไร”

สิ่งที่บริษัทพลังานจะทำเป็นอันดับแรกเมื่อราคาน้ำมันเป็นขาลง คือ ปรับลดรายจ่ายด้านการลงทุน เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการชดเชยกระแสเงินสดฝั่งรายรับที่หายไป พร้อมกับการจ่ายปันผลในอัตราใกล้เคียงกับปีก่อน ๆ เพื่อประคองไม่ให้ราคาหุ้นของบริษัทร่วงหนักตามรายได้ อาทิ “ปิโตรบราส” รัฐวิสาหกิจน้ำมันของบราซิล ที่กัดฟันหั่นรายจ่ายหลายหมื่นล้านดอลลาร์

Advertisement

จากการรวบรวมข้อมูลของวูด แมคเคนซี ตั้งแต่ราคาน้ำมันแตะจุดสูงสุดช่วงกลางปี 2557 จนถึงตอนนี้ มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ถูกชะลอออกไป 68 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 380,000 ล้านดอลลาร์ พุ่งขึ้นเกือบ 2 เท่าจากตัวเลข 200,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายนปี 2558 

โครงการที่ตกเป็นเป้าของการชะลอการลงทุนมักเป็นแหล่งน้ำมันใต้ทะเลลึก ที่มีต้นทุนในการดำเนินการสูง โดยเฉพาะในแองโกลา ไนจีเรียและอ่าวเม็กซิโก ซึ่งครองสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตที่ถูกเลื่อนออกไป ส่วนแคนาดาที่เผชิญผล

Advertisement

กระทบจากซัพพลายเชลล์ออยล์ล้นตลาดในสหรัฐ จำเป็นต้องระงับโครงการทรายน้ำมันที่มีต้นสูงออกไปอย่างไม่มีกำหนด คิดเป็นปริมาณเทียบเท่าน้ำมัน (Barrel Oil Equivalent) 4 ล้านบาร์เรล

นอกจากนี้ ยังมี “เมกะโปรเจ็กต์” 2 โครงการที่เจอโรคเลื่อน คือ 1)เฟสสองของแหล่งน้ำมัน “คาชากัน” ในคาซัคสถาน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทร่วมทุนที่ลงขันโดย 4 บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ เช่น โททัลและเชลล์ โครงการนี้มีกำลังการผลิตสูงสุด 600,000 บาร์เรลต่อวัน และ 2) แหล่งก๊าซธรรมชาติ “โกลฟินโฮ” ในโมซัมบิก โดยรวมแล้ว การระงับโครงการน้ำมันเพื่อลดต้นทุนส่งผลให้ปริมาณน้ำมันราว 27,000 ล้านบาร์เรล หรือเท่ากับปริมาณการผลิต 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะยังไม่ออกสู่ตลาดจนกว่าจะถึงทศวรรษหน้า 

ในบรรดา 6 โครงการที่ได้รับไฟเขียวให้เดินหน้าต่อ มี 2 โครงการที่เป็นแหล่งใต้ทะเลลึก ได้แก่ โครงการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ในอียิปต์ของบีพี และแหล่งแอปโพแมทท็อกซ์ในอ่าวเม็กซิโกของเชลล์ ทั้ง 2 โครงการข้างตันมีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าโครงการจำนวนมากที่ถูกระงับ ซึ่งมีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  

ถ้าการหั่นรายจ่ายยังไม่เพียงพอ ขั้นตอนต่อไปได้แก่ กู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นและปรับลดตำแหน่งงาน เช่น การลอยแพเจ้าหน้าที่หลายพันคนในฝ่ายสำรวจและผลิตของ

บริษัทบีพี โดยคาดว่าตั้งแต่กลางปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันในแถบทะเลเหนือปลดพนักงานออกไปแล้วราว 65,000 ตำแหน่ง แม้ว่ามาตรการนี้จะทำให้บริษัทพลังงานมีต้นทุนสูงขึ้นในระยะสั้นจากการจ่ายค่าชดเชย แต่ในระยะกลาง-ระยะยาว จะช่วยประหยัดต้นทุนได้ไม่น้อย

ส่วนสาเหตุที่ราคาพลังงานดิ่งลง นายแดเนียล เยอร์กิน รองประธานบอร์ดบริษัทที่ปรึกษา ไอเอชเอส ชี้ว่ามาจากหลายปัจจัยทั้งฝั่งซัพพลายและดีมานด์ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโอเวอร์ซัพพลายในตลาดสหรัฐจากการบูมของอุตสาหกรรมเชลล์ออยล์ 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การตัดสินใจคงเพดานการผลิตของสมาชิกในกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (OPEC) แนวโน้มที่อิหร่านจะเพิ่มกำลังการผลิตหลังนานาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์  

ในสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทพลังงานคงทำได้เพียงตัดลดรายจ่ายและกินบุญเก่าที่สะสมไว้ พร้อมกับหวังว่าราคาน้ำมันจะกระเตื้องขึ้นโดยเร็ว เกมนี้จึงเป็นเหมือนกับวัดว่าใครมีสายป่านยาวกว่ากัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    QR Code
    เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
    Line Image