‘บินไทย’ เทกออฟ หนีขาดทุน-โกยกำไร

‘บินไทย’ เทกออฟ หนีขาดทุน-โกยกำไร

ย้อนไปช่วงสิ้นปี 2562 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหนี้สินรวมราว 240,000 ล้านบาท เป็นหนี้สินที่สะสมมาเป็นเวลานาน ก่อนจะโดนซ้ำเติมจากโควิด-19 ที่เริ่มระบาดช่วงต้นปี 2563 จนทำให้การบินไทยต้องปรับลดเที่ยวบินหลายเส้นทางนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563

ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเงินแย่ลง ทางเดียวที่การบินไทยจะหลุดพ้นจากการล้มละลายได้ คือต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ต้องออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ยังคงสถานะสายการบินแห่งชาติไว้อยู่ เพื่อเข้าแผนฟื้นฟูกิจการตามกระบวนการของศาลล้มละลายกลาง ณ ตอนนั้นเป็นเพียงทางรอดเดียวที่จะทำให้การบินไทยผ่านช่วงวิกฤตไปได้

จากที่โซซัดโซเซอยู่นาน กระทั่งช่วงปลายปี 2564 การบินไทยได้เปิดให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศร่วมกับการขนส่งผู้โดยสาร 22 เส้นทาง สู่ทวีปเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย เพื่อให้สอดคล้องกับตารางการบินในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 รองรับความต้องการขนส่งสินค้า
ที่เพิ่มมากขึ้น

Advertisement

รวมถึงนำทรัพย์สินต่างๆ ออกมาขาย เพื่อเพิ่มเงินทุนให้กับบริษัท อาทิ ขายสำนักงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงขยายธุรกิจอาหารที่มีอยู่แล้วเพื่อหารายได้เพิ่มเติม อย่างเมนูฮอต ปาท่องโก๋ ออกวางขาย ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีจนถึงปัจจุบัน

จากการพลิกโฉมแผนธุรกิจครั้งใหญ่ส่งผลให้ในปี 2565 การบินไทยมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 97,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 341% จากปี 2564 จากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสาร สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีค่าใช้จ่ายไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 86,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% จากปี 2564 โดยเป็นกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (อีบิทด้า) จำนวน 11,207 ล้านบาท ดีกว่าปี 2564 ที่ขาดทุน 15,906 ล้านบาท และมีอีบิทด้าจากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 19,689 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ

สถานการณ์ล่าสุด ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย เผยถึงผลประกอบการในไตรมาส 3/2566 ของบริษัท การบินไทย และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว เพิ่มขึ้น 12.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งมีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท

Advertisement

มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 77.3% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2565 เฉลี่ยที่ 77.0%

ทำให้งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ประมาณ 65,567 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 86,567 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ประมาณ 66,115 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินที่ 29,330 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 548 ล้านบาท

จึงคาดการณ์ว่าทั้งปี 2566 จะมีรายได้รวมอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ส่วนปี 2567 คาดว่าจะกลับมาใกล้เคียงก่อนช่วงโควิด-19 ระบาดที่มีรายได้อยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ส่วนปี 2568 รายได้จะเติบโตมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19

ขณะที่ บริษัทการบินไทย และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม 29,289 ล้านบาท สูงกว่าปี 2565 ที่มีค่าใช้จ่าย 28,940 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 11,995 ล้านบาท (41% ของค่าใช้จ่ายรวม) โดยบริษัทการบินไทย และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2565 ซึ่งมีกำไร 3,920 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทการบินไทย และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,722 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,732 ล้านบาท

ส่งผลให้บริษัทการบินไทย และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดทุน 4,780 ล้านบาท โดยมีอีบิทด้าหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง 8,360 ล้านบาท

สำหรับกระแสเงินสดที่การบินไทยมีสะสมในขณะนี้ พบว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ประกอบด้วย ปี 2562 กระแสเงินสดสะสม 20,873 ล้านบาท ปี 2563 กระแสเงินสดสะสม 8,144 ล้านบาท ปี 2564 กระแสเงินสดสะสม 5,813 ล้านบาท ปี 2565 กระแสเงินสดสะสม 34,689 ล้านบาท และปี 2566 ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2566 บริษัทมีกระแสเงินสดสะสมสูงถึง 63,652 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี แม้การบินไทยจะมีความสามารถทำกำไรและเพิ่มกระแสเงินสดในมืออย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่อาจนิ่งนอนใจในการนำมาขยายธุรกิจได้ เพราะกระแสเงินสดดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องชำระหนี้เงินต้น พร้อมดอกเบี้ยจากการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ โดยในปี 2567 การบินไทยมียอดหนี้ที่ต้องเตรียมจ่ายเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนนี้รวมถึงหนี้ครบกำหนดชำระอย่างหนี้บัตรโดยสารด้วย

นอกจากนี้ ยังคงต้องเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายและคุมต้นทุนให้ดีอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยภายนอกเรื่องเศรษฐกิจโลก สงครามอิสราเอล-ฮามาส และตลาดจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ยังเป็นเรื่องที่ต้องประเมินสถานการณ์

อีกทั้งเงินสดที่มีอยู่ก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เพื่อจ่ายหนี้ครบกำหนดชำระ โดยในปีหน้าการบินไทยต้องเริ่มจ่ายหนี้ก้อนใหญ่ ทำให้ปลายปี 2567 ต้องหาเงินทุนรวมเพิ่มอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการขายหุ้นเพิ่มทุน 25,000 ล้านบาท ซึ่งจะขายให้กับผู้ถือหุ้น ส่วนแปลงหนี้เป็นทุน 37,000 ล้านบาท อีก 5,000 ล้านบาทเป็นดอกเบี้ยพัก หรือดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ลูกหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เพื่อให้ปี 2568 ออกจากแผนฟื้นฟูให้ได้

ขณะที่ ความท้าทายและความเสี่ยงในปี 2567 ได้แก่ สภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นจากจำนวนเครื่องบินที่กลับเข้าสู่ระบบการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ส่งผลกระทบกับการตัดสินใจเดินทางของผู้โดยสาร การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีน ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ และค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

นอกจากนี้ การบินไทยมีปัญหาเรื่องจำนวนเครื่องบินไม่เพียงพอ ทำให้เส้นทางบินที่มีศักยภาพเดิมที่เคยบินไม่สามารถกลับไปบินได้ ซึ่งกำลังพยายามหาทางกลับไปบินใหม่อีกครั้ง อาทิ ซิดนีย์ มิลาน นาริตะ ปัจจุบันมีเครื่องบินแล้ว 68 ลำ มีการเช่าใหม่ 26 ลำ รับมาแล้ว 3 ลำ ปลายปี 2567 จะรับเข้ามาอีก 10 ลำ เพื่อกลับไปบินในเส้นทางเดิมที่มีศักยภาพต่อไป

สถานการณ์การเงินขณะนี้เป็นแรงส่งช่วยให้ การบินไทย เทกออฟพ้นการขาดทุน ขึ้นสู่น่านฟ้าหารายได้ ทำกำไร อย่างราบรื่นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image