หอการค้าฯชี้ ไทยติดกับดักรายได้น้อย นานมาก – จี้ปฏิรูป ดัน 10 เมืองรอง ชมนายกฯ รับบทเซลส์แมน

หอการค้าฯ ชี้ ไทยติดกับดักรายได้น้อย นานมาก – จี้ปฏิรูป ดัน 10 เมืองรอง ขึ้นแท่นเมืองเที่ยวหลัก ชมนายกฯ เป็นเซลส์แมนทำงานหนัก บินไปกระตุ้นลงทุน

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ณ ภิรัชฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ หอการค้าไทย จัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2566 โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบรับเข้าร่วมและรับข้อเสนอทางเศรษฐกิจจากหอการค้าทั่วประเทศ (สมุดปกขาว) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “The time to act is now พลิกวิกฤต ฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน” ในวาระที่หอการค้าไทย ครบรอบการก่อตั้ง 90 ปี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยติดกับดักประเทศผู้มีรายได้น้อยมาอย่างยาวนาน ทั้งที่มีช่วงเวลาในอดีตที่เคยประสบความสำเร็จมาก อาทิ ยุคอุตสาหกรม ไทยมีการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปทั่วโลกแบบมหาศาล และยุคของการท่องเที่ยวที่เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยกว่า 40 ล้านคน เมื่อปี 2562 ก่อนที่การระบาดโควิด-19 จะส่งผลกระทบทำให้เหลือเพียง 4 แสนคนในช่วงเปิดประเทศระยะแรก จึงถือเป็นความท้าทายที่ไทยเราจะหวังพึ่งพาเครื่องยนต์เศรษฐกิจคลื่นลูกเดิมไม่ได้อีกต่อไป ทำให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูป (รีฟอร์ม) ในระยะยาว ตามภารกิจของหอการค้าที่ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการช่วบสร้างสังคมไทย ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับขีดความสามารถของไทย ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

Advertisement

นายสนั่น กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ เร่งทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ร่วมกับหลายประเทศในนานาชาติ รวมถึงดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เพราะจะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามา โดยมองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญมาก อาทิ การลดใบอนุญาตต่างๆ ในการทำธุรกิจ การดึงคนเก่งเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มเติม และดึงคนที่มีความสามารถพิเศษ (Talent) มาที่ไทย รัฐบาลจะต้องออกมาตราการให้ต่างชาติมีที่อยู่อาศัย และ Talent immigration policy เป็นการผลักดันให้เกิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (อีกอฟเวิร์นเมนท์ ) อาทิ ประเทศเอสโตเนีย ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน สิ่งสำคัญสุดคือ รัฐบาลต้องมีตวามโปร่งใส ประชาชนจะใช้บริการของรัฐบาลหรือเอกชน ติดต่อในเรื่องอะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่หรือพบปะกัน แต่สามารถทำได้ผ่านเทคโนโลยีที่มีอยู่ ซึ่งทุกอย่างสามารถทำงานได้อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้เศรษฐกิจสามารถพลิกฟื้นสู่ความรุ่งโรจน์อีกครั้งในอนาคตได้

นายสนั่น กล่าวว่า การเพิ่มเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศ ได้แก่ วันที่ 13-16 ธันวาคมนี้ หอการค้าไทยจะเดินทางไปซาอุดิอาระเบีย เพื่อจัดงานแฟร์สินค้า และเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย รวมถึงให้ความสำคัญกับประเทศคู่ค้าหรือคู่แข่งอื่นด้วย ในแนวทางเปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า นอกจากนี้ จะต้องสนับสนุนให้ประชาชนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ที่ทำแล้ว ตามมาด้วยเวียดนาม ที่พยายามสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศไปลงทุนข้างนอกมากขึ้น โดยเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา วินฟาสต์ (VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเวียดนาม ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นต้น ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องการรีฟอร์มให้ได้

Advertisement

นายสนั่น กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 35 ล้านคน ส่วนปีนี้คาดว่าจะได้ประมาณ 27-28 ล้านคน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญมาก ทั้งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มเติม และการดึงนักลงทุนต่างชาติด้วย โดยในวาระที่หอการค้าครบรอบ 90 ปีนั้น จะมีการจัดทำโครงการพัฒนาศักยาเมืองรองให้กลายเป็นเมืองหลักในการท่องเที่ยว ผ่านการคัดเลือกเริ่มต้น 10 จังหวัด เป็นโมเดลต้นแบบ แต่รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยส่งเสริมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟาสตรัคเจอร์) ให้พัฒนาสอดรับกับความเจริญที่จะมีเพิ่มขึ้นด้วย โดยสิ่งสำคัญคือ ความสามารถของคน หรือประชาชนในประเทศ ทำให้การศึกษามีความสำคัญควบคู่กับความเข้าใจและองค์ความรู้ต่างๆ ด้วย

“การที่นายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นการลงทุน เป็นเซลล์แมน ต้องชมการทำงานที่หนักมาก หากให้คะแนนก็เกิน 100 เพราะมีความเข้าใจธุรกิจต่างๆ และผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมจากเดิม อาทิ โครงการแลนด์บริดจ์ โดยอยากเห็นประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ประเทศอื่น เราต้องช่วยกันเพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดความเจริญแบบสนั่นหวั่นไหวในประเทศไทยเอง” นายสนั่น กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image