กำไรแบงก์พาณิชย์แผ่ว หลังคุมเข้มปล่อยกู้ เหตุหนี้ครัวเรือนสูง กลุ่มเปราะบางรายได้ฟื้นช้า

ธปท.ชี้ไตรมาส 3 กำไรแบงก์พาณิชย์แผ่ว หลังคุมเข้มปล่อยกู้ เหตุหนี้ครัวเรือนสูง-กลุ่มเปราะบางรายได้ฟื้นช้า

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน น.ส.อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาส 3/2566 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 6.5 หมื่นล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นตาม แต่หากเทียบไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิปรับลดลงจาก 7.4 หมื่นล้านบาท เป็นการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล และกำไร FVTPL ที่ลดลงจากผลขาดทุนจากการขายตราสารอนุพันธ์เป็นสำคัญ

ขณะที่สินเชื่อหดตัว 0.9% จากไตรมาสก่อนหน้าขยายตัว 0.4% โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจติดลบ 2.1% จากการชำระคืนหนี้ธุรกิจต่อเนื่อง แต่พบการชำระหนี้ธุรกิจช่วงที่ผ่านมา สูงเทียบก่อนโควิด การขยายตัวสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอ 1.2% จาก 1.9% แยกตามขนาดธุรกิจ ด้านเอสเอ็มอีติดลบ 5.7% และธุรกิจขนาดใหญ่ติดลบ 0.2% จากธนาคารพาณิชย์ระวังปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีใหม่

ขณะเดียวกัน สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวชะลอลง สินเชื่อรถยนต์อยู่ต่ำ 0.8% จาก 1.6% จากธนาคารพาณิชย์ระวังปล่อยสินเชื่อจากคุณภาพสินเชื่อด้อยลง สินเชื่อบ้านขยายตัวชะลอ 2.4% สอดคล้องความต้องการสินเชื่อบ้านชะลอลง และต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้น ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น มีผลในการตัดสินใจคนซื้อบ้านระดับปานกลาง

Advertisement

“สินเชื่อหดตัวลงจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งหดตัวเป็นไตรมาสแรก แต่สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอี หดตัว 5 ไตรมาสติดต่อกัน สาเหตุมาจากการชำระคืนหนี้ของทั้งลูกหนี้ภาครัฐและการชำระคืนหนี้ของเอสเอ็มอี กว่า 2 แสนล้านบาท“น.ส.อัจจนากล่าว

น.ส.อัจจนา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สถามบันการเงินยังคงเข้มงวดและระมัดระวังกับการให้สินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งแตกต่างกับช่วงโควิด ที่สินเชื่อโควิดควรจะหดตัว แต่ขณะนั้นด้วยมาตรการ และการช่วยเหลือ ทำให้สินเชื่อไม่ได้หดตัว แต่ตอนนี้มีสัญญาณการชำระหนี้คืนกลับมามากขึ้น หรือเท่ากับช่วงก่อนโควิด จึงทำให้การปล่อยสินเชื่อหดตัวลง

ทั้งนี้ ภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1/2566 ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน 19.9% เงินสำรอง 176% และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงที่ระดับ 196% สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

น.ส.อัจจนา กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 2/2566 อยู่ระดับ 90.7% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ต้องติดตามการชำระหนี้ครัวเรือนในกลุ่มคนเปราะบาง มีรายได้น้อย รายได้ฟื้นตัวช้า โดยไตรมาส 3/2566 หนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้น 2,300 ล้านบาท มาอยู่ที่ 4.94 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ 2.70% เพิ่มขึ้น 2.67% จากไตรมาสก่อน หลักๆ เป็นผลมาจากคุณภาพหนี้สินเชื่อเพื่ออุปโภค-บริโภคที่อาจด้อยลง

“ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (SICR หรือ stage 2) ลดลง 5 หมื่นล้านบาท ทำให้สัดส่วนปรับมาอยู่ที่ 5.84% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.08% อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง”น.ส.อัจจนากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image