กนอ.ดันอุตฯมุ่งสู่ยั่งยืน รับทุนต่างชาติบุกไทย
กลับมาพร้อมกับประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม จากการที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นอกจากจะร่วมหารือผู้นำระดับโลกแล้ว ยังเจรจาหารือดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก 15 ราย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Google, AWS, HP, Tesla, ADI, WD, Open AI., Apple, Meta, Nvidia, Tiktok, Citi, Booking.com และ Walmart ซึ่งนายกฯเศรษฐาระบุว่า เม็ดเงินลงทุนแต่ละบริษัทหลายแสนล้านบาท
นอกจากนี้ นายกฯเศรษฐายังกล่าวปาฐกถาในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) โดยเน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว พร้อมแสดงวิสัยทัศน์เน้นย้ำด้านความยั่งยืนว่าไทยมีเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งไทยเป็นผู้เสนอในการประชุมเอเปคเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งปีนี้สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพเอเปค ได้สานต่อโดยเปิดตัว BCG Pledge โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ซึ่งกระตุ้นให้ทุกบริษัทต้องลงนามและมีส่วนร่วม
นายกฯเศรษฐายืนยันว่า ไทยมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างความยั่งยืน ซึ่งปี 2566 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของ SDG Index เป็นที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เรื่องความยั่งยืนเป็นเทรนด์การลงทุนของโลกธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการของไทยต้องพร้อมที่จะรองรับร่วมลงทุนหรือเป็นพาร์ตเนอร์กับทุนต่างชาติต่างๆ ที่มีมาตรฐานสูง และมียุทธศาสตร์เรื่องความยั่งยืน
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดย วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. ดำเนินโครงการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่เกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (I-EA-T Sustainable Business : ISB) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งตอบสนองกลไกการพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN Sustainable Development Goals : SDGs)
ย้อนไปเมื่อปี 2565 กนอ.ริเริ่มโครงการ ISB ที่นำเอามาตรฐานสากลในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มาพัฒนาให้เหมาะสมแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจสร้างคุณค่าร่วมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ใน 2 มิติสำคัญ
มิติแรก การพัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจ CSR In Process โดยนำเครื่องมือเกณฑ์การประเมินการดำเนินธุรกิจ (BIA : Business Impact Assessment) ร่วมกับมาตรฐาน ธุรกิจสร้างคุณประโยชน์สังคม (Benefit Corporation : BCORP) ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ธรรมาภิบาล 2.พนักงาน 3.ชุมชน 4.สิ่งแวดล้อม และ 5.ลูกค้าและผู้บริโภค
มิติที่สอง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางสังคมในกระบวนการ CSR After process โดยนำเครื่องมือ การบริหารจัดการการลงทุนและดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (SIA : Social Impact Assessment) และ (SROI : Social Return on Investment) ร่วมกับกลุ่มมาตรฐาน Social Value International ที่มุ่งสะท้อนผลสัมฤทธิ์จากมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจ 2.สังคม และ 3.สิ่งแวดล้อม ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
ผู้ว่าการ กนอ.ระบุว่า ส่วนปี 2566 กนอ.เร่งขับเคลื่อนโดยร่วมมือกับภาคีต่างๆ บูรณาการและสร้างผลสัมฤทธิ์ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เสริมพลังเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทยให้ยกระดับขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจและความยั่งยืนขององค์กรเทียบเท่ามาตรฐานสากล
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ อาทิ มาตรฐานองค์กรยั่งยืนระดับสากล SDGs World Benchmark ประเมินผลสัมฤทธิ์องค์กรยั่งยืนผ่าน ISB Impact Assessment SDG Action Manager และ SDG Impact Standard
เชื่อมโยง Global BCORP Network เครือข่ายผู้บริโภคและธุรกิจกว่า 200,000 ราย และพนักงานภายใต้กลุ่ม Certified Bcrop กว่า 500,000 คน ในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
เข้ามาตรการสนับสนุนการลงทุนสู่ Smart &Sustainability ของบีโอไอ ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงาน ยกระดับสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล สู่อุตสาหกรรม 4.0
สอดคล้องมาตรฐานการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน ESG Reporting ของตลาดหลักทรัพย์ ปรับปรุงระบบการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG Performance ขององค์กรเตรียมพร้อมสู่การเป็นองค์การมหาชน
วีริศ ระบุว่า กว่า 14 ปีของการพัฒนาเครือข่ายมาตรฐาน ธุรกิจทั่วโลกกว่า 80,000 แห่งขานรับและร่วมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจขององค์กรสู่มาตรฐาน ธุรกิจสร้างคุณประโยชน์สังคม (BCORP) โดยจำนวนกว่า 4,000 องค์กร จาก 70 ประเทศทั่วโลกผ่านมาตรฐาน BCORP ที่สะท้อนการบริหารธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลและคำนึงถึงประโยชน์สังคม
การประเมินผลประกอบการธุรกิจในมิติสังคม 5 ด้านสำคัญ ได้แก่
1.ด้านธรรมาภิบาล : แนวทางการปฏิบัติขององค์กรที่แสดงถึงความมีธรรมาภิบาลทั้งด้านการดำเนินภารกิจ และความโปร่งใส
2.ด้านพนักงาน : แนวทางการปฏิบัติต่อพนักงานที่ทำงานให้กับองค์กร ทั้งในด้านค่าจ้างที่เป็นธรรม เวลาทำงานและสวัสดิการ การฝึกอบรมและการเรียนรู้ การเป็นเจ้าของของพนักงาน
3.ด้านลูกค้า : คุณค่าและประโยชน์ที่ส่งมอบต่อผู้รับบริการ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การติดตามผลกระทบจากการใช้สินค้าบริการตามมาตรฐานแนวทางการปฏิบัติที่ดีต่อลูกค้า ระดับความมีส่วนร่วมในการยกระดับการดำเนินธุรกิจที่ดีต่อลูกค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นต้น
4.ด้านชุมชน : แนวทางการปฏิบัติและผลกระทบที่มีต่อชุมชนโดยรวมขององค์กร ทั้งมิติการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากร การสร้างงานใหม่ในกลุ่มพนักงาน การส่งเสริมความหลากหลาย ตลอดจนแนวการปฏิบัติต่อซัพพลายเออร์รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อชุมชนใกล้เคียง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ภาครัฐ ประชาสังคมที่องค์กรมีส่วนร่วมขับเคลื่อน
5.ด้านสิ่งแวดล้อม : แนวทางการปฏิบัติและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอากาศ น้ำ และการควบคุมของเสีย และแนวทางการปฏิบัติต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
สำหรับประโยชน์ของมาตรฐานทางสังคม คือช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาแนวปฏิบัติของการบริหารดำเนินธุรกิจ ช่วยเพิ่มมูลค่าองค์กร สร้างความเชื่อถือสังคม ส่งเสริมความจงรักภักดีของผู้บริโภค ดึงดูดพันธมิตรและเครือข่ายธุรกิจ ส่งเสริมระดับความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วยเครื่องมือมาตรฐานระดับโลก
ส่วนรางวัล I-EA-T SUSTAINABLE BUSINESS AWARD เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบมาตรฐานสากล สอดคล้องเชื่อมโยงกับการปรับบริบทของธุรกิจทั่วโลกที่สะท้อนต่อการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) บูรณาการสู่การดำเนินธุรกิจที่สะท้อนผลสัมฤทธิ์เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาสู่เกณฑ์ I-EA-T Sustainable Business (ISB) ของ กนอ. ที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล นับเป็นอีกหนึ่งรางวัลอันทรงเกียรติของภาคอุตสาหกรรมไทย
ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณารางวัล มี 4 ด้าน ได้แก่
1.ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจ BCG (BCG Model Oriented) การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ที่ตอบสนองต่อประเด็นสำคัญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน/ความเสี่ยงดังกล่าว การขับเคลื่อนจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติ และการส่งเสริมวัฒนธรรม จิตสำนึก ความมีส่วนร่วมของผู้บริหาร พนักงานองค์กร
2.นวัตกรรมสู่ความยั่งยืน (Sustainable Innovation Driven) การพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจและสังคม แนวคิดริเริ่มใหม่ในองค์กร/ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองต่อประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3.วัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืน (Sustainable Culture & DNA) ทิศทางในการพัฒนาโมเดลธุรกิจ สินค้าบริการและกระบวนการจัดการ ที่สอดคล้องและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ BCG Model เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
4.ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงาน (Impact Performance) จากการดำเนินธุรกิจ (BIA) และกิจกรรมเพื่อสังคม (SIA)
ISB เป็นโครงการที่ต่อยอดการส่งเสริมมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน (หรือ CSR-DIW) ตลอดจนมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ด้วยการยกระดับเกณฑ์ปฏิบัติที่ดีตามกรอบความรับผิดชอบต่อสังคมของโรงงาน สู่การสะท้อน ผลสัมฤทธิ์ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเทียบเคียงกับผลสัมฤทธิ์ที่ดีในระดับสากลได้
อีกทั้งสร้างฐานข้อมูล Impact benchmark ของภาคอุตสาหกรรมไทยในกลุ่ม ISB LIST ตอบโจทย์การสื่อสารสร้างการรับรู้ สร้างความแข็งแกร่งตลอดห่วงโซ่คุณค่าใน Global Supply Chain และดึงดูดนักลงทุน SDGs Impact Investing สู่ภาคอุตสาหกรรมที่สามารถสะท้อนตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้ว่าการ กนอ.สรุป
เป็นอีกโครงการที่ กนอ. ช่วยผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยก้าวทันตามเทรนด์โลกเรื่องความยั่งยืน และได้รับมาตรฐานสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักลงทุนต่างชาติ ที่พร้อมจะยกทัพเข้าไทยในเร็วๆ นี้